สงครามปกป้องอภิชนาธิปไตย vs สงครามปกป้องประชาธิปไตย: ในนามต้านนิรโทษกรรม
จรรยา ยิ้มประเสริฐ
12 พฤศจิกายน 2556
12 พฤศจิกายน 2556
เกริ่นนำ
สถานการณ์การเมืองไทยในปัจจุบัน คือการต่อสู้ที่ยังไม่จบของสงครามชนชั้น ระหว่างฟากรอยัลลิสต์ชนชั้นสูงที่จัดตั้งชัดเจนโดยพรรคการเมืองประชาธิปัตย์ ที่ก่อตั้งเมื่อวันจักรี 6 เมษายน 2489 ด้วยเป้าประสงค์หลัก คือ เพื่อการพิทักษ์รักษาไว้ซึ่งวิถีอภิสิทธิชนและสิทธิประโยชน์ของชนชั้นสูง คนเมืองมหานครกรุงเทพ – กับฟากคน “ใส่เสื้อแดง” ซึ่งเป็นฐานเสียงของพรรคเพื่อไทย ที่เป็นคนชั้นล่าง คนชนบทที่สุดทนกับการถูกทำนาบนหลังคน จากการถูกปล้นทรัพยากร และเข้าไม่ถึงงบประมาณและโครงการพัฒนาที่มีคุณภาพ ที่กว่า 70-80% ของงบประมาณแผ่นดิน ถูกดึงดูดไปหล่อเลี้ยงและเอาอกเอาใจให้กับวิถีการเมือง “คนชนบทเลือก คนกรุงเทพล้ม” กันมาหลายทศวรรษ
เมื่อมวลชน “ใส่เสื้อแดง” ของพรรคการเมืองรุ่นใหม่ ที่จัดตั้งโดยกลุ่มทุนตระกูลชินวัตรเมื่อต้นทศวรรษ 2540 – ที่แม้จะตั้งนายกรัฐมนตรีถึง 4 คน และถูกยุบพรรคกันมา 3 ครั้งในรอบเพียงสิบ 15 ปี จากพรรคไทยรักไทย สู่พรรคพลังประชาชน และพรรคเพื่อไทยในปัจจุบัน – ยังไม่สลายไปและมีจำนวนเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ แต่ขณะเดียวกันพรรคเพื่อไทย ก็ยังไม่สามารถนำชาติฝ่าวิกฤตการเมืองได้เมื่อผู้มีบทบาทนำในพรรคและนักการ เมืองส่วนใหญ่ในพรรค ยังเล่นการเมืองด้วยวิถี “เพื่อดำรงวิถีอภิสิทธิชน” โดยไม่ให้ “ระคายเคืองเบื้องพระยุคลบาท” กันอย่างจริงจังมาจนถึงปัจจุบัน โดยละเลยและเผิกเฉยต่อความต้องการเห็นการเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้างทางการเมืองไทยของคนเสื้อแดงและประชาชนทั่วไปที่รักประชาธิปไตย
กระนั้น มวลชนคนชั้นล่างชาวไพร่ที่ต้องการสถานภาพ “ประชาชนพลเมือง” ที่ได้รับการยอมรับว่าเท่าเทียมกับคนเมืองมหานครเมืองหลวง ต่างก็แสดงพลังสีแดงเพื่อปกป้องรัฐบาลในทุกครั้งที่ฝ่ายรอยัลลิสต์ ประชาธิปัตย์ประท้วงเพื่อไล่รัฐบาลที่คนเสื้อแดงเลือก … และนี่คือสถานการณ์การเมืองในขณะนี้
นี่คือภาพการเมืองบนท้องถนนของประเทศไทย ที่ขับเคี่ยวกันมาอย่างต่อเนื่องนับตั้งแต่ปี 2549 มาจนถึงปัจจบุัน และก็ได้เดินทางมาถึงจุดหัวเลี้ยวหัวต่อ ที่วัดกันที่พลังหนุนและความอึดของทั้งสองฝ่าย – ที่กำลังยึดถนนกลางเมืองหลวง และในศาลากลางจังหวัดฐานเสียงของแต่ละพรรคกันอีกครั้งมาตลอดร่วม 2 สัปดาห์ที่ผ่านมา เมื่อรัฐบาลของพรรคเพื่อไทยได้เพลี่ยงพล้ำในการผลักดันพระราชบัญญัตินิรโทษกรรมที่ส่งผลย้อนกลับไปถึงปี 2547 เพื่อลบล้างผลพวงทางคดีทั้งหมดให้กับทักษิณ ชินวัตร นายทุนใหญ่และผู้มีอิทธิพลสูงสุดของพรรค อดีตนายกรัฐมนตรีที่ถูกรัฐประหารเมื่อวันที่ 19 กันยายน 2549
ซึ่งการเพลี่ยงพล้ำครั้งนี้ของเพื่อไทยได้เป็นบทเรียนครั้งสำคัญที่สุดในประวัติศาสตร์การเล่นการเมืองของตระกูลชินวัตร ที่จำต้องตื่นมาตระหนักอย่างจริงจังว่าประชาชนได้พัฒนาไปมาก และไม่ต้องการเห็นนักการเมือง “เล่นการเมือง” แต่ต้องการให้ปักหลัก “หลักการและความยุติธรรม” ให้บังเกิดขึ้นในสังคมไทยเสียที
ท้ายที่สุดด้วยพลังต่อต้านร่างพระราชบัญญัตินิรโทษกรรมฉบับสุดซอยถอยหลัง ไปยังพ.ศ. 2547 ถูกต่อต้านอย่างหนักจากประชาชนทุกภาคส่วนรวมทั้งฝ่ายหนุนเพื่อไทย – แม้ว่าจะด้วยเหตุผลต่างกันก็ตาม – พรรคเพื่อไทยก็ต้องยอมถอยสุดตัวด้วยการตีตกร่างพรบ. นิรโทษกรรมทั้งหมดทุกฉบับ
นั่นก็หมายความว่า พรรคเพื่อไทย ต้องรีบเร่งหามาตรการอื่นเพื่อนำนักโทษการเมืองที่ติดคุกมากว่า 3 ปีออกจากคุกให้ได้ เพื่อฟื้นคืนความเชื่อถือจากขบวนการคนเสื้อแดง และจากนักวิชาการและนักวิจารณ์การเมืองทั้งหลาย
การต้านนิรโทษกรรมของทุกกลุ่มคนในสังคมตอนนี้ มีนัยยะสำคัญยิ่งต่อพัฒนาการการเมืองของไทย
การนิรโทษกรรมครั้งนี้ถ้าผ่านไปได้สำเร็จหมายความว่ามันเป็นการนิรโทษกรรมครั้งที่ 24 ในประวัติศาสตร์ประชาธิปไตยไทยในช่วง 80 ปี ที่ส่วนใหญ่เป็นการนิรโทษกรรมให้กับคณะปฏิวัติ และให้กับทหารที่เข่นฆ่าสังหารประชาชนกันมาครั้งแล้วครั้งเล่า
ประเด็นปัญหามันจึงไม่ใช่แค่เรื่อง … ไทยเคยมีนิรโทษกรรมมาแล้วตั้งหลายฉบับ ทำไมถึงยอมฉบับนี้ไม่ได้เช่นที่ฝ่ายหนุนพยายามถกเถียง … แต่มันเป็นเรื่องที่ยอมไม่ได้ก็เพราะการนิรโทษกรรมครั้งนี้ จะถือเป็นการสูญเปล่าของช่วงเวลาหลายปี กับหลายชีวิตที่ถูกสังหาร กับความยุติธรรมพักไว้ก่อน กับการถดถอยทางเศรษฐกิจและเสถียรภาพ และทำให้ประเทศไทยไม่สามารถสร้างบรรทัดฐานการเอาผิดทหารและรัฐบาลที่สั่งการ ให้มีการใช้ความรุนแรงกับประชาชนได้อีกครั้ง
นอกจากนี้รัฐบาลเพื่อไทย ก็ไม่สามารถตอบคำถามเรื่องความชอบธรรมในทุกด้านจากการดัน พรบ. นิรโทษกรรมครั้งนี้กันอย่างสุดลิ่มทิ่มประตูค้านทุกหลักการได้ – ไม่ว่าจะในทางกติกามารยาทของรัฐสภา ในทางตรรกะเหตุผล และความชอบธรรม นั่นหมายถึงการไม่สามารถปักหมุด “ความยุติธรรม” ในประเทศไทยได้
สิ่งที่เป็นผลพวงตามมาของการดันพรบ. นิรโทษกรรมสุดซอยคือ การใช้ประเด็นนี้สร้างความชอบธรรมในการฟื้นชีพขบวนการพันธมิตรประชาชนเพื่อ ประชาธิปัตย์ โดยที่พรรคประชาธิปัตย์ทุ่มสุดตัวไม่ต้องแอบอยู่เบื้องหลังอีกต่อไป … และนั่นก็ทำให้การเมืองเป็นเรื่องจริง
การจัดตั้งมวลชนรอยัลลิสต์ของประชาธิปัตย์ เป็นเรื่องที่รัฐบาลและคนทั้งประเทศต้องลุกขึ้นมาติดตามอย่างใกล้ชิด และการต่อสู้ทางการเมืองบนท้องถนนครั้งนี้ เป็นเรื่องของทุกฝ่ายที่ต้องจับตาดูการประลองกำลังกันด้วยจำนวนมวลชนที่ทั้ง 2 ค่ายพรรคการเมืองใหญ่ – ค่ายพรรคขุนนางอำมาตย์ประชาธิปัตย์ที่ร่วมด้วยบรรดาชนชั้นสูงและอภิสิทธิชน คนเมืองหลวง กับค่ายทุนการเมืองใหม่เพื่อไทยที่อิงคะแนนเสียงจากชนบท ที่ยังเป็นมวลชนคนชนบท “ชาวไพร่” ใส่เสื้อสีแดง
ทั้งนี้ทั้งสองค่ายก็ถูกตีขนาบ ตรวจสอบและวิจารณ์จากหลายกลุ่มหลายฝ่ายเช่นกัน ที่ต่างก็ทุ่มสุดตัวกับการต่อสู้ทางการเมืองครั้งนี้ เพื่อยื้อยุดแย่งชิง/หรือช่วยกันผลักดันกงล้อการเมือง ให้ขึ้นสู่ยอดเขาให้สำเร็จให้จงได้
การเมืองบนท้องถนนครั้งนี้สามารถชี้ชะตาบ้านเมืองได้ ถ้าทหารไม่เข้ามาทำการปฏิวัติ หรือศาลรัฐธรรมนูญไม่เข้ามาอุ้มประชาธิปัตย์เช่นที่เคยทำเมื่อเดือนธันวาคม 2551
สงครามชนชั้นในเมืองไทย ได้สร้างความเจ็บปวดมายาวนานเกินพอแล้ว และประเทศไทยควรจะหลุดออกมาจากสงครามชนชั้นได้ตั้งนานแล้ว ถ้าเห็นแก่ประโยชน์สุขของประชาชนทั้งประเทศอย่างแท้จริง … ไพรสันติ จุ้มอังวะ คนงานเก็บเบอร์รี่ชาวชัยภูมิที่ใช้ชีวิตตั้งแต่อายุ 18 ปี เดินทางทำงานในหลายประเทศเพื่อหาเงินเลี้ยงดูครอบครัว ได้สะท้อนภาพสงครามปกป้องอภิสิทธิชนของคนเมืองหลวงไว้อย่างชวนให้สะอึก
เปิดทีวีดูแทบทุกช่องมีแต่ข่าวความวุ่นวายทางการเมืองในเมืองหลวง การแก่งแย่งชิงดี แบ่งพรรค แบ่งพวก แบ่งสี แบ่งข้าง นี่หรือประเทศไทย ทำไมเรื่องแบบนี้ต้องเกิดขึ้นแทบทุกปี ทุกรัฐบาลไป พวกเขากำลังทำอะไรกันอยู่
อีกมุมหนึ่งของชนบท พวกเรากำลังดิ้นรน กระเสือกกระสนเพื่อปากท้อง เพื่อครอบครัว เพื่อความอยู่รอดกันอย่างปากกัดตีนถีบ ก่อนการเลือกตั้งแต่ละที พวกคุณก็บอกว่าจะแก้ไขจะปรับปรุง จะทำโน่น นี่ นั่น สุดท้ายก็เข้าไปเพื่อให้ได้มาซึ่งอำนาจของตัวเองและพวกพ้อง ปล่อยพวกเราประชาชนตาดำๆ สู้ชีวิตแสนยากเข็นต่อไป (ประชาไท, เสียงจากคนงานเก็บเบอร์รี่: ชีวิตต้องสู้ )
นี่ก็คือความจริงที่ทำคนไทยทั้งประเทศอึดอัดหายใจไม่ออก และต้องถูกผลักถูกดึงให้เดินหน้าและถอยหลังกันมาอย่างยาวนานตลอด ประวัติศาสตร์การเปลี่ยนแปลงการปกครองจากระบบสมบูรณาญาสิทธิราชย์มาสู่ระบอบ “ประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์อยู่ใต้รัฐธรรมนูญ” เมื่อวันที่ 24 มิถุนายน 2475 ที่ถูกปฏิวัติเปลี่ยนแปลงมาสู่ระบอบ “ประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข” มาจนถึงบัดนี้ เมื่อวันที่ 8 พฤศจิกายน 2490 เมื่อค่ายขุนนางสามารถโน้มน้าวใจทหารให้หนุนการปฏิวัติเพื่อโค่นอำนาจคณะผู้ประศาสน์การประชาธิปไตยได้สำเร็จ
จำต้องพูดถึงพรรคขุนนางประชาธิปัตย์
พรรคประชาธิปัตย์ที่มีกำเนิดเมื่อวันจักรี 6 เมษายน 2489 ด้วยจุดมุ่งหมายเพื่อเป็นตัวแทนของราชวงศ์และขุนนางอำมาตย์ในรัฐสภา ก็ได้ทำหน้าที่อย่างแข็งขันสมกับอุดมการณ์ของพรรค เพื่อเอาชนะคู่แข่งทางการเมืองด้วยไพ่เหนือกว่าในฐานะสมาชิกราชวงศ์และบุคคลใกล้ชิดเบื้องพระยุคลบาท ผู้พิทักษ์รักษาไว้ชื่อระบบ “อภิสิทธนาธิปไตยใต้ร่มพระบรมโพธิสมภาร” ที่กระทำทุกช่องทางเพื่อกุมบังเหียนการเมืองในประเทศ – ไม่ว่าจะด้วยเล่ห์เหลี่ยม กลอุบาย ทั้งในสภาและนอกสภา มาตลอด 67 ปีที่ผ่านมา
เป็นพรรคการเมืองที่อยู่ยั้งยืนยงและเก่าแก่ที่สุดในประเทศไทย ที่แทบจะไม่เคยชนะการเลือกตั้งได้เสียงข้างมากที่สุดจนสามารถจัดตั้งรัฐบาลได้เอง และนับตั้งแต่ปี 2540 เป็นต้นมา ไม่เคยชนะการเลือกตั้งได้เสียงข้างมากพอจะให้สามารถตั้งรัฐบาลได้ พรรคนี้จึงเป็นพรรคฝ่ายค้าน “ทุกรูปแบบ” ทั้งในสภา-นอกสภา ตามกติกา-นอกกติกา ไม่สนแม้จะออกหน้าสนับสนุนขบวนการล้มรัฐบาลพันธมิตรรอยัลลิสต์ หรือสนับสนุนให้ทหารทำรัฐประหาร 2549 และได้รับอานิสงส์อย่างหน้าชื่นตาบานเมื่อศาลรัฐธรรมนูญของชนชั้นสูงล้ม 3 พรรคการเมืองที่เป็นรัฐบาลในปี 2551 เพื่อปูทางให้พรรคประชาธิปัตย์สามารถจัดตั้งรัฐบาลได้สำเร็จ พร้อมกับการประกาศใช้มาตรการ “เขตกระสุนจริง” เพื่อการปราบปรามคนเสื้อแดงในเดือนพฤษภาคม 2553 จนทำให้ผู้ประท้วงถูกยิงเสียชีวิตกว่า 100 คน และอีกร่วม 2,000 คนได้รับบาดเจ็บ โดยอีกกว่า 2,000 คนถูกจับกุม และยังคงอยู่ในคุก (ห้ามประกัน) จนถึงบัดนี้ร่วม 40 คน
เมื่อเลือกตั้งครั้งล่าสุด 3 กรกฎาคม 2554 พรรคประชาธิปัตย์แพ้การเลือกตั้ง กลายเป็นพรรคฝ่ายค้านตามระบอบการเลือกตั้งอีกครั้ง ตลอดสองปีที่ผ่านมา พรรคประชาธิปัตย์ – เหมือนเช่นเคย – ทำหน้าที่อย่างเดียวคือ “ค้านทุกเรื่อง” และ “หาทางล้มรัฐบาล” ให้ได้ … เพื่อจะได้เป็นรัฐบาลอีกครั้งหนึ่ง
เมื่อพรรคเพื่อไทยเพลี่ยงพล้ำเรื่อง พรบ. นิรโทษกรรมสุดซอย (ไม่ว่าจะด้วยเพราะถูกชนชั้นสูงหักหลัก หรือเพราะพรรคเพื่อไทยไม่มีหลักการที่ชัดเจนพอก็ตาม) พรรคประชาธิปัตย์ ซึ่งเริ่มอับจนหนทางมากขึ้นเรื่อยๆ และก็สู้อย่างคนอับจนหนทางราวกับหมาจนตรอกมากขึ้นเรื่อยๆ ก็ได้โอกาสใช้เรื่อง “การค้านนิรโทษกรรมให้ทักษิณ” ปลุกระดมมวลชนคนเคยใส่เสื้อเหลืองขึ้นมาอีกครั้งหนึ่ง
ซึ่งครั้งนี้ พรรคประชาธิปัตย์ทุ่มสุดตัว … ขนขุนพลและแกนนำพรรคหลายคน ถึงขั้นลาออกจากตำแหน่งในพรรค มาเป็นผู้ดำเนินรายในเวทีประท้วงที่ตั้งกระจายอยู่หลายจุดรอบๆ ทำเนียบรัฐบาล ยิ่งกว่านั้นแกนนำพรรคคนสำคัญส่งหนังสือลาออกจากตำแหน่งสมาชิกสภาผู้แทน ราษฎร 9 คน เมื่อเช้าวันที่ 12 พฤศจิกายน 2556 ที่ผ่านมา
พรรคประชาธิปัตย์ตระหนักดีว่า การเล่มเกมการเมืองอิงแอบไม่ปล่อยกับ “ความรักและความเป็นเจ้าของสถาบันพระมหากษัตริย์” ของพรรคประชาธิปัตย์และอภิสิทธิชนคนชั้นสูงที่ออกหน้าโดยพรรคประชาธิปัตย์อย่างเปิดเผยครั้งนี้ เป็นโอกาสครั้งสุดท้ายของพรรค ที่จะยังคงสามารถเล่นเกมการเมืองในนามสถาบันฯ ได้เช่นนี้
พวกเขาจึงมีเป้าหมายเดียวคือ ต้อง “ชนะ” เท่านั้น และความต้องการ “ชนะเท่านั้น” ครั้งนี้อาจจะเดิมพันด้วยรัฐประหาร ด้วยเลือดเนื้อของประชาชนบนท้องถนน และด้วยการชะงักงันทางการเมือง และการพาประเทศถอยหลังไปอีก 10 หรือ 20 ปี หรือ 100 ปี … ซึ่งจะเป็นโศกนาฎกรรมอีกครั้งหนึ่งที่อีลีตเมืองไทยที่คุ้นชินกับการเมือง “อภิชนาธิปไตยใต้ร่มพระบรมโพธิสัมภาร” กระทำอย่างอำมหิตกับประเทศชาติและประชาชน โดยไม่ใส่ใจในความเสียหายทางตรงในด้านชีวิตเลือดเนื้อและทรัพย์สิน หรือในทางบรรยากาศการเมือง ทั้งในด้านการสั่นคลอนทางเสถียรภาพทางการเมือง ทางเศรษฐกิจ และทางสังคม ที่จะเกิดขึ้นจากการชะงักงันของการเมืองเพียงเพื่อสนอง “อีโก้/อัตตา และโมหะจริต” ของพวกเขาเท่านั้น
“อภิชนาธิปไตย” ใต้ร่มพระบรมโพธิสัมภาร
นับตั้งแต่การประสบความสำเร็จของการปฏิวัติของจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ “ทหารของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว” เมื่อ 16 กันยายน 2500 เมื่อจอมพลสฤษดิ์ได้รับแต่งตั้งเป็นผู้รักษาการพระนคร โดยไม่มีผู้รับสนองพระบรมราชโองการอันขัดกับรัฐธรรมนูญฉบับปี 2495 ที่ยังมีผลบังคับใช้อยู่ ณ ขณะนั้น
ประกาศพระบรมราชโองการตั้งผู้รักษาพระนครฝ่ายทหาร
ภูมิพลอดุลยเดช ปร.
เนื่องด้วยปรากฏว่า รัฐบาลอันมี จอมพลป. พิบูลสงคราม เป็นนายกรัฐมนตรี ได้บริหารราชการแผ่นดินไม่เป็นที่ไว้วางใจของประชาชน ทั้งไม่สามารถรักษาความสงบเรียบร้อยของบ้านเมืองได้ คณะทหารซึ่งมี จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ เป็นหัวหน้า ได้เข้ายึดอำนาจการปกครองไว้ได้ และทำหน้าที่เป็นผู้รักษาพระนครฝ่ายทหาร ข้าพเจ้าจึงขอตั้ง จอมพล สฤษดิ์ ธนะรัชต์ เป็นผู้รักษาพระนครฝ่ายทหาร ขอให้ประชาชนทั้งหลายจงอยู่ในความสงบ และให้ข้าราชการทุกฝ่ายฟังคำสั่งจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์
ตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป
ประกาศมา ณ วันที่ 16 กันยายน พุทธศักราช 2500
(ที่มา http://www.kpi.ac.th/wiki/index.php/รัฐประหาร พ.ศ. 2500)
(ที่มา http://www.kpi.ac.th/wiki/index.php/รัฐประหาร พ.ศ. 2500)
วิถีการเมืองของประเทศไทย ที่จิตวิทยาด้านความมั่นคงแห่งชาติแห่งยุคสงครามเย็น อยู่ภายใต้สโลแกน “จับเรียบ ฆ่าเรียบ เผาเรียบ” กับกลุ่มคนที่ถูกป้ายหัวว่าเป็นภัยต่อความมั่นคงแห่งชาติและกษัตริย์ โดยมีพระชาวพุทธรอยัลลิสต์ ทำหน้าที่ให้ใบอนุญาตทางจิตสำนึกว่า “ฆ่าคอมมิวนิสต์ไม่บาป”
ส่งผลให้นักศึกษาหลายร้อยคนถูกสังหารที่ธรรมศาสตร์ สามพันกว่าคนถูกจับ และจำนวนมากต้องหนีเข้าป่าเมื่อวันที่ 6 ตุลาคม 2519 พร้อมกับคณะรัฐประหารที่แก้ไขกฎหมายหมิ่นพระมหากษัตริย์มาตรา 112 โดยการเพิ่มโทษจำคุกจาก 7 ปี เป็น 15 ปี
การเมืองไทยหลัง 6 ตุลาคม 2519 โดยเฉพาะในยุค 8 ปีของนายกรัฐมนตรีที่ชื่อพลเอกเปรม ติณสูลานนท์ จึงเป็นการเมืองอภิชนาธิปไตย ภายใต้การอัดฉีดสโลแกน “ทหารในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยุ่หัว, ข้าราชการในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว, ประชาชนในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และรัฐบาลในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว” พร้อมกับการโหมประชาสัมพันธ์และอัดฉีดงบประมาณไปกับนโยบายการพัฒนาประเทศ หลัก ด้วยโครงการ “ตามแนวพระราชดำริ” “สนองพระราชดำรัส” และ “เพื่อการเฉลิมพระเกียรติ” กันอย่างมาก จนทำให้รัฐบาลที่ตามๆ มา เคยชินกับการรอ “พระราชดำรัส” ก่อนที่จะคิดทำโครงการใดๆ เพื่อการพัฒนาประเทศชาติอย่างพอเพียง
ทั้งนี้ รัฐบาล ทุกหน่วยงานในสังคม ทั้งภาครัฐ รัฐวิสาหกิจ หรือเอกชน รวมทั้งในหมู่สถาบันการศึกษา ต่างก็ระมัดระวังอย่างยิ่งที่จะไม่ทำอะไร พูดอะไร หรือแสดงพฤติกรรมอะไร อันอาจจะทำให้ “ระคายเคืองเบื้องพระยุคลบาท” กันอย่างล้นเกิน จนทำให้สถาบันพระประมุขกลายเป็นสถาบันอันศักดิ์สิทธิ์ที่ที่ผู้คนรอบข้าง อ่อนไหวกันอย่างดัดจริต กระทั่งว่าแม้ไม่มีเสียงพูดให้เข้าหู ก็ยังไปคาดเดาเอาเองว่า คนอื่นจะคิดหรือจะวิจารณ์สถาบันฯ
ซึ่งภายใต้วิถีการเมือง “เทิดทูนและพิทักษ์รักษาสถาบันพระมหากษัตริย์” มันถูกบรรจุอยู่ในแผนงบประมาณที่มีความสำคัญอันดับต้นๆ มาตลอดต่อเนื่องทุกรัฐบาล และเพิ่มขึ้นทุกปีมานับตั้งแต่รัฐประหาร 2500 และนับตั้งแต่รัฐประหาร 2549 วงเงินงบประมาณเพิ่มขึ้นแตะระดับหมื่นล้านบาทแล้ว …ซึ่งเป็นตัวเลขแค่งบสนับสนุนตรงไปยังสำนักพระราชวังและโครงการพระราชดำริ ไม่รวมงบประมาณเพื่อการพิทักษ์รักษาและปกป้องสถาบันฯ ที่กระจายไปยังทุกหน่วยงาน ในเกือบทุกกระทรวง และงบในส่วนของสำนักนายกรัฐมนตรี
ผมได้เขียนไว้ตั้งแต่เดือนกันยายน ปี 2553 ว่า …
จริงๆ แล้วถ้าจะสาวให้ลึกลงไปจะเห็นว่ากลุ่มอำมาตย์ มีบทบาทในสังคมไทยมาตลอด 60 ปี นับตั้งแต่รัฐประหารโค่นรัฐบาลฝ่ายปรีดี พนมยงค์ ได้สำเร็จในปี 2490 และเป็นกลุ่มอำนาจที่เล่นเกมการเมืองอย่างชาญฉลาดและรอบคอบ และแม้จะเผชิญหน้ากับประชาชนที่ลุกขึ้นเรียกร้องประชาธิปไตยและขับไล่ เผด็จการมาหลายครั้ง รวมทั้งให้การรองรับคณะรัฐประหารถึง 7 คณะ ก็ยังสามารถเก็บเกี่ยวความดีความชอบมาได้อย่างต่อเนื่องและมั่นคงขึ้นเรื่อยๆ
จำต้องย้ำเตือนกันอีกครั้งว่า สถิติการเมืองไทย 80 ปีที่ผ่านมา นั้นมีหน้าตาที่ขี้ริ้วขี้เหร่เช่นไร ด้วยจำนวนนายกรัฐมนตรี 28 คน รัฐประหารและการปฏิวัติกว่า 20 ครั้ง การลุกขึ้นสู้ของประชาชนและถูกปราบปรามอย่างเหี้ยมโหดหลายครั้ง (2492 – 2495 – 2516 – 2519 – 2535 – 2552 – 2553) รัฐธรรมนูญ 18 ฉบับ และมีนายกรัฐมนตรีที่มาจากการเลือกตั้งเพียงคนเดียวที่อยู่ครบเทอม (ทักษิณ 1, 2544-2548)
ตัวเลขประชาชนที่ต้องเสียชีวิตเพราะการเมืองปกป้องชนชั้นสูงในประเทศไทย จริงๆ แล้วมันไม่น้อยเลย ผมได้ลองทำการศึกษา บันทึก และร้อยเรียงชื่อและจำนวนผู้เสียชีวิตในประเทศไทยอันเนื่องมาจากการปิดกั้นเสรีภาพและการปราบปรามคนคิดต่าง นับเนื่องมาตั้งแต่สังหารรัฐมนตรีค่ายสังคมนิยม สังหารชาวบ้านดุซงญอเกือบทั้งหมู่บ้าน อุ้มหายฮัจยีสุหลง จิตร ภูมิศักดิ์ ถีบลงเขาเผาถังแดงกว่า 3,000 คนที่พัทลุง การปราบปรามตลอดช่วงสงครามเย็นที่ไม่สามารถประเมินได้ จากการสังหารและเข่นฆ่าเพราะทำกิจกรรมการเมืองและจากการใช้กำลังปราบปรามประชาชนที่ประท้วงทั้ง 5 ครั้งรวมกันก็มีตัวเลขผู้เสียชีวิตนับพันคน และอีกหลายพันคนเสียชีวิตจากนโยบายของรัฐที่อนุญาตให้เจ้าหน้าที่ใช้ความ รุนแรงต่อประชาชนได้โดยไม่ต้องรับโทษ ที่ให้ท้ายโดย พรบ. คอมมิวนิสต์ กฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ พรบ. ความมั่นคง และพรก. ฉุกเฉิน เป็นต้น
ตลอด 60 ปีที่ผ่านมาอำมาตย์ประชาสัมพันธ์มอมเมาลัทธิประชาธิปไตยแบบไทยว่า การเลือกตั้งไม่สำคัญเพราะชาวบ้านเลือกแต่คนเลว คนโกงบ้านโกงเมือง รัฐประหารในนามปกป้องราชบัลลังก์กระทำได้ เพื่อช่วยจัดการนักการเมืองคอรัปชั่น และมอบอำนาจคืนให้พระมหากษัตริย์ช่วยคัดสรรคนดีเข้ามาบริหารบ้านเมือง แนวคิดเรื่อง ‘ประชาธิปไตยคนดี’ ‘แต่งตั้งโดยคนดี’ จึงได้ค่อยๆ กัดกร่อนทำลายความเชื่อเรื่องหลักการประชาธิปไตยตัวแทน และความสำคัญของการเลือกตั้งไปได้อย่างไม่น่าเชื่อ (จรรยา, 2553)
บทเรียนฟินแลนด์ ประวัติศาสตร์ที่ชำระแล้ว
แน่นอนว่ามีบทเรียนการต่อสู้เพื่อยุติการเมืองเผด็จการ สมบูรณาญาสิทธิราชย์ และอภิสิทธนาธิปไตย ที่เกิดขึ้นทั่วโลกตลอดช่วงร้อยกว่าปีที่ผ่านมา ที่นักวิชาการและคนไทยได้เรียนรู้และพยายามนำมาศึกษาเปรียบเทียบและเตือนสติ สังคม ไม่ว่าจะบทเรียนฝรั่งเศส อเมริกาอังกฤษ รัสเซีย จีน เขมร เวียดนาม ฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย เกาหลี เนปาล หรืออาร์เจนตินา หรือประเทศอื่นๆ
เนื่องจากผมอยู่ที่ฟินแลนด์แม้จะไม่ได้ศึกษาอย่างจริงจังเกี่ยวกับ ประวัติศาสตร์ฟินแลนด์ แต่จากการพูดคุยกับผู้คนและอ่านเอกสารประกอบพอสังเขป ก็เห็นว่าบทเรียนของฟินแลนด์ก็น่าสนใจเพื่อเป็นกรณีศึกษากับเมืองไทยในช่วง นี้ไม่น้อย โดยเฉพาะอย่างยิ่ง บทเรียนของประเทศนี้ ได้มีการชำระประวัติศาสตร์กันเรียบร้อยแล้ว ในขณะที่ประเทศไทยยังรอคอยประวัติศาสตร์ที่ชำระสะสาง
ประวัติศาสตร์ฟินแลนด์นี่ไม่ว่าจะฟังจากใครหรือจากการอ่านเอกสาร มันไม่ซับซ้อน และไม่ต้องอ่านเงื่อนงำอะไรมากเลย มันเป็นประวัติศาสตร์ที่บันทึกข้อเท็จจริงรอบด้าน เพื่อเป็นเครื่องเตือนใจให้คนทั้งประเทศต้องเดินหน้าอย่างระมัดระวังและใช้เหตุใช้ผล
การเป็นประเทศเล็กที่รอบล้อมด้วยประเทศใหญ่ ฟินแลนด์ตกอยู่ในอาณานิคมของสวีเดนหลายร้อยปี แต่สวีเดนก็ถูกรัสเซียตีให้ล่าถอยและเข้ามาผนวกเอาฟินแลนด์เป็นหนึ่งจังหวัด ของรัสเซียและส่งเจ้าเมืองจากรัสเซียมาปกครองได้ประมาณหนึ่งร้อยปี แต่เมื่อสงครามโลกครั้งที่หนึ่งปะทุ และเมื่อเลนินนำการปฎิวัติโค่นซาร์ได้สำเร็จในปี 1917 ก็เกิดสูญญากาศทางการปกครองที่ฟินแลนด์ สงครามกลางเมืองระหว่างชนชั้นล่างและชนชั้นสูงที่ฟินแลนด์ก็ปะทุขึ้น เพื่อแย่งชิงอำนาจนำทางการเมืองในประเทศพร้อมกับประกาศอิสรภาพจากรัสเซีย
การปะทุแห่งสงครามชนชั้นที่ฟินแลนด์ จนเป็นสงครามกลางเมืองเกิดขึ้นระหว่างวันที่ 27 มกราคม – 5 พฤษภาคม 2461 (1918) เมื่อฝ่ายซ้ายที่ประกอบไปด้วยขบวนการคนงานคนจนในเขตตอนใต้ของฟินแลนด์ นำโดยพรรคสังคมนิยมประชาธิปไตย” ได้จัดตั้งกองกำลังหรือเรียกว่า “ทหารแดง” ได้ปะทะกับกองกำลังจัดตั้งโดยฝ่ายขวาหรือที่เรียกว่า “ทหารขาว” ที่เป็นพวกชนชั้นสูงและเกษตรกรในเขตตอนเหนือของประเทศ ทั้งนี้ทหารแดงได้รับการสนับสนุนจากรัสเซีย ส่วนทหารขาวได้รับการสนับสนุนจากเยอรมัน แต่เมื่อเยอรมันส่งกองกำลัง 13,000 คนพร้อมอาวุธเข้ามาช่วยฝ่ายขวา ก็ทำให้ฝ่ายแดงถูกตีพ่าย หลังการสู้รบเป็นเวลาประมาณ 4 เดือน แต่การต่อสู้ครั้งนี้ก็กลายเป็นโศกนาฎกรรมที่สร้างความเจ็บปวดให้กับคนใน ประเทศฟินแลนด์มาจนถึงบัดนี้ ด้วยจำนวนผู้เสียชีวิตจากการสู้รบร่วมสองหมื่นคน (ทั้งสองฝ่าย แต่ฝ่ายแดงเสียชีวิตเยอะกว่าฝ่ายขาวมาก) และจากการเจ็บปวดและอดตายในช่วงถูกจับขังคุกอีกจำนวนมาก ส่งผลให้มีผู้เสียชีวิตประมาณ 37,000คน จากจำนวนประชากรทั้งประเทศในขณะนั้น 3 ล้านคน
เมื่อการสู้รบยุติ ทหารฝ่ายขาวและกองทัพเยอรมันได้จับกุมฝ่ายแดง 80,000 คน แต่เด็กเล็กและผู้หญิงจำนวนหนึ่งถูกปล่อยตัว เหลือที่ถูกคุมขังประมาณ 74,000 – 76,000 คน ซึ่งส่วนใหญ่จะถูกส่งเข้าคุกการเมืองที่อยู่กันอย่างแออัดและแน่นขนัดโดย ไม่มีเครื่องอำนวยความสะดวกและอาหารเพียงพอ ทำให้มีนักโทษตายเป็นจำนวนมากจากการเจ็บป่วยและอดอยาก ส่งผลให้ผู้เสียชีวิตจากสงครามกลางเมืองนี้ มีจำนวนสูงถึงเกือบสี่หมื่นคนดั่งเช่นที่กล่าวมาแล้ว
ผลทางกระบวนการยุติธรรมคือ ประมาณ 70,000 คนถูกตัดสินว่ามีความผิด ในจำนวนนั้น 555 คนมีความผิดถึงโทษประหาร และถูกประหารชีวิตจริงไปถึง 133 คน และศาลก็ได้เปิดเผยที่ศาลว่ามีผู้บริสุทธิ์ถูกคุมขังเช่นกัน
นักโทษส่วนใหญ่พ้นโทษหรือได้รับอภัยโทษภายในสิ้นปี 2461 หลังจากถูกดำเนินคดีการเมือง โดยยังเหลือที่ถูกคุมขัง ณ สิ้นปีจำนวน 6,100 คน และถูกขังอยู่จนถึงสิ้นปี 2462 จำนวน 4,000 คน (3,000 คนได้รับอภัยโทษในเดือนมกราคมปี 2463 และขณะเดียวกันก็มอบสิทธิพลเมืองกลับคืนให้กับนักโทษ 40,000 คน) 500 คน ได้รับการปล่อยตัวในปี 2466 และในปี 2470 นักโทษที่เหลืออยู่ 50 คนสุดท้ายได้รับการนิรโทษกรรมโดยรัฐบาลพรรคสังคมนิยมประชาธิปไตย
ในปี 2516 รัฐบาลฟินแลนด์ได้จ่ายค่าชดเชียให้กับอดีตนักโทษ 11,600 คน ที่ถูกคุมขังในช่วงสงครามกลางเมือง
อนึ่ง หลังจากฝ่ายขาวชนะสงครามก็ได้มีการเชิญเจ้าชาย Frederick Charles จากเยอรมันเพื่อมาเป็นกษัตริย์ปกครองฟินแลนด์ แต่ระยะเวลาทดลองเรียนรู้การเมืองภายใต้กษัตริย์ก็มีระยะเวลาเพียงช่วงสั้นๆ เจ้าชายก็สละราชบัลลังก์ พร้อมกับการประกาศวิถีการเมืองระบอบ “สาธารณรัฐ” ของรัฐสภาฟินแลนด์ในปี 1919 (2462) ภายใต้การบริหารของนายกรัฐมนตรีในระบบรัฐสภาเดียว ที่มีการเลือกตั้งทุก 4 ปี โดยมีประธานาธิบดีที่มาจากการเลือกตั้งทุก 6 ปี เป็นประมุขของประเทศ
ในปี 2000 ทางฟินแลนด์ได้มีการแก้กฎหมายลดทอนอำนาจประธานาธิบดีที่เพื่อให้ไม่ซ้ำซ้อน และคานอำนาจกับบทบาทของนายกรัฐมนตรีมากเกินไป
(ที่มา: http://en.wikipedia.org/wiki/Finnish_Civil_War, and http://en.wikipedia.org/wiki/History_of_Finland)
(ที่มา: http://en.wikipedia.org/wiki/Finnish_Civil_War, and http://en.wikipedia.org/wiki/History_of_Finland)
ในปัจจุบัน ศิลปิน นักเขียน นักวิชาการ และผู้คนฟินแลนด์ เริ่มนำเสนอเรื่องราวแห่งสงครามกลางเมืองกันมากขึ้น ทั้งในรูปแบบงานศิลปะ ข้อเขียน วรรณกรรมหรือการแสดง กระนั้น เรื่องราวความเจ็บปวดครั้งที่สุดของประวัติศาสตร์ชาติฟินแลนด์ ก็ยังถูกเล่าอย่างรวบรัดให้กับคนงานเก็บเบอร์รี่ฟังในวันที่มีการสอน ประวัติศาสตร์แรงงานฟินแลนด์ให้กับพวกคนงานที่วิทยาลัยการศึกษาแรงงานเมื่อ วันที่ 7 ตุลาคม ที่ผ่านมา – อาจด้วยไม่มีเวลาลงลึกในรายละเอียดก็เป็นได้
บทเรียนของการสู้รบระหว่างประชาชนสองค่ายแนวคิดครั้งนี้ แม้ว่าขบวนการแรงงาน คนฝ่ายซ้ายหรือฝ่ายแดงที่ชูธงสังคมนิยมและคอมมิวนิสต์จะพ่ายแพ้ในการสู้รบ แต่พรรคการเมืองสังคมนิยมประชาธิปไตยก็เป็นพรรคแนวหน้า ก็ได้ทำหน้าที่ต่อสู้ทางรัฐสภา เพื่อออกกฎหมายสร้างหลักประกันให้กับคนฟินน์ และดูแลคนงานและคนฟินแลนด์ตั้งแต่เกิดจนตายจนนำฟินแลนด์ขึ้นสู่คำนิยาม “การเมืองระบบรัฐสวัสดิการ” ได้สำเร็จในยุคแห่งความรุ่งโรจน์จนถึงทศวรรษที่ 2520 เมื่อค่ายสังคมนิยมประชาธิปไตย ถูกค่ายทุนนิยมเสรีนิยมใหม่ตีโต้และแย่งครองพื้นที่ทางการเมืองมากขึ้น
ในปัจจุบันคนในประเทศฟินแลนด์ก็เริ่มพูดคุยเรื่องการปกป้องระบบ “รัฐสวัสดิการ” ของพวกเขาจากการถูกทำลายจากวิถีการเมืองทุนเสรีเช่นกัน
ขอกล่าวนิดหนึ่งถึงขบวนการสหภาพแรงงานและฝ่ายซ้ายที่ฟินแลนด์
ขณะนี้พวกขบวนการซ้ายและสหภาพแรงงานที่ดูเหมือนว่าจะถูกค่ายเสรีนิยมโลกา ภิวัตน์ตีให้ตกไปอยู่ชายขอบมากขึ้นเรื่อยๆ แต่ก็ยังคงมีพลังอยู่พอสมควรและยังคงต่อสู้กันอย่างไม่หยุดหย่อนเพื่อปกป้อง สวัสดิการและสิทธิประโยชน์ (ที่ต่อสู้ให้ได้มาเมื่อยามรุ่งเรืองในทศวรรษ 2500 – 2510) จากการพยายามของนายจ้างที่จะเลิกจ้างงานได้เสรี ลดเงินเดือน ลดสวัสดิการ และจากนโยบายแปรรูปและเปิดการค้าเสรีของรัฐบาล ตามแรงผลักดันของกระแสเสรีนิยมที่กำกับโดยทุนที่รุกคืบอย่างหนักที่ฟินแลนด์เช่นกัน
นักวิชาการแรงงานที่วิทยาลัยเพื่อการศึกษาแรงงานกล่าวย้ำในวันนั้นว่า “ความเป็นรัฐสวัสดิการของฟินแลนด์ เกิดจากการต่อสู้ให้ได้มาด้วยขบวนการแรงงาน” และ “ไม่มีอะไรได้มาโดยไม่ได้ต่อสู้เพื่อให้ได้มาด้วยตัวของเราเอง” และ วิทยาลัยการศึกษาแรงงานก็ยังจัดกิจกรรมและชั้นเรียนให้กับสมาชิกและตัวแทนสหภาพแรงงานที่ฟินแลนด์ ต่อเนื่องเกือบทุกวันเป็นปีที่ 63 แล้วในปัจจุบัน แม้ว่าเกือบจะถูกปิดไปเมื่อ 6 ปีก่อนเพราะไม่มีงบประมาณ แต่สหภาพแรงงานทั่วฟินแลนด์ก็ระดมเงินเพื่อรักษา “วิทยาลัยเพื่อการศึกษาแรงงาน” แห่งนี้เอาไว้ได้สำเร็จ
อนึ่ง การให้การสนับสนุนการต่อสู้ของคนงานเก็บเบอร์รี่ชาวไทยจากสภาแรงงานฟินแลนด์ เป็นนิมิตหมายที่ดียิ่ง ที่แสดงว่าสหภาพแรงงานที่นี่ไม่ได้สุขสบายแต่ตัวและเอาหูไปนาเอาตาไปไร่กับการละเมิดสิทธิแรงงานและสิทธิมนุษยชนของคนงานจากชาติอื่นที่ถูกนำพาเข้ามาทำงานที่ฟินแลนด์
จรรยาเข้าร่วมกิจกรรม “นักโทษการเมืองในห้องขัง” กับศิลปินที่ฟินแลนด์เมื่อ 12 พฤษภาคม 2555
ประเทศไทย ประวัติศาสตร์ที่รอการชำระ
ประวัติศาสตร์ฟินแลนด์เมื่อชำระแล้ว มันก็เปิดให้คนในประเทศสามารถเผชิญหน้ากับปัญหาร่วมสมัยที่ไม่เคยปล่อยให้ ประชาชนหยุดพัก ดังนั้นการพูดถึงประวัติศาสตร์ได้อย่างตรงไปตรงมา และการสามารถเรียนรู้จากมันด้วยเคารพว่ามันเป็นอดีตที่ผ่านมาแล้ว ที่สามารถนำมาใช้เตือนสติหรือแก้ไขปัจจุบันวิสัย ให้ประเทศชาติสามารถเดินหน้าสู่อนาคตได้อย่างสง่างามและซื่อตรง – เป็นความจำเป็นยิ่งของประเทศไทย ณ ยามนี้
ตราบใดที่ประเทศไทยยังไม่สามารถชำระประวัติศาสตร์ และเปิดให้ผู้คนสามารถวิพากษ์วิจารณ์ และ/หรือวิเคราะห์สังคมและการเมืองกันได้อย่างตรงไปตรงมา – ด้วยความกริ่งเกรงว่าจะทำให้ “ระคายเคืองต่อเบื้องพระยุคลบาท” กันอยู่เช่นนี้ – ตราบนั้นประเทศไทยก็ยังคงอยู่ในสภาวะการเมืองติดลบไปเรื่อยๆ และไม่สามารถเซ็ทศูนย์ หรือ Set Zero เพื่อเริ่มเดินหน้าประเทศไทยได้ และประเทศของเราจะถูกปล่อยทิ้งให้อยู่กับสภาวะติดลบถูกทิ้งท้ายไปเรื่อยๆ ตามพลวัตน์ของการพัฒนาของโลกที่ขับเคลื่อนไปข้างหน้าอยู่ตลอดเวลา
จำเป็นต้องพูดถึงสถาบันกษัตริย์
ในการชำระประวัติศาสตร์ มันมีข้ออ่อนไหวในสังคมปัจจุบันที่ทั้งสังคมจะต้องร่วมมือกันเพื่อแก้ไข ทั้งนี้เพราะสถานภาพระบอบการปกครองไทยภายใต้ระบอบ “ประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข” ที่เริ่มต้นขึ้นนับตั้งแต่ปี 2490 นั้น ทำให้สถาบันพระประมุข – สถาบันกษัตริย์ของไทย – ได้รับการปกป้องและคุ้มครองอย่างแข็งขันด้วยรัฐธรรมนูญ “องค์พระมหากษัตริย์ทรงดำรงอยู่ในฐานะอันเป็นที่เคารพสักการะ ผู้ใดจะละเมิดมิได้ ผู้ใดจะกล่าวหาหรือฟ้องร้องพระมหากษัตริย์ในทางใด ๆ มิได้” และด้วยประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 “ผู้ใดหมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาท หรือผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่สามปีถึงสิบห้าปี”
นอกจากนี้ สถาบันพระมหากษัตริย์ไทยยังถูกปกป้องด้วย:
- คณะองคมนตรี 19 คน (ที่มาจากอดีตประธานศาลและตุลาการ 6 คน อดีตนายพลทหารจากทุกเหล่าทัพ 7 คน จากเชื้อพระวงศ์และอดีตข้าราชการใกล้ชิด 6 คน) ทั้งนี้ทุกคนเป็นผู้ชายหมดและมีอายุเฉลี่ยประมาณ 75 ปี
- ด้วยข้าราชบริพารกว่า 4,000 คน
- ด้วยข้าราชการกว่าล้านคน
- ลูกจ้างรัฐวิสาหกิจอีกห้าแสนคน
- ด้วยสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ที่เป็นกลุ่มธุรกิจที่มั่งคั่งที่สุดในประเทศไทย
- ด้วยกองทหารรักษาพระองค์กว่า 50,000 นาย
- ด้วยกระบวนการยุติธรรมทั้งระบบ
- ด้วยรัฐสภาที่ไม่อาจจะกระทำการพิจารณาเกี่ยวกับสถาบันพระมหากษัตริย์ได้แม้แต่น้อย
- ด้วยพสก นิกรจำนวนไม่น้อยที่ได้รับข้อมูลด้านเดียวมาตลอด 60 ปี จนเทิดทูนบูชาพระมหากษัตริย์กันอย่างล้นเกิน จนไม่สามารถจะรับฟ้งข้อมูลด้านอื่นโดยสงบสติอารมณ์ได้ต่อไป …
- ฯลฯ
การเมือง “พูดความจริงไม่ได้” ที่อาจจะเริ่มตั้งแต่วันที่ 9 มิถุนายน 2489 วันที่ในหลวงอานันทมหิดล รัชกาลที่ 8 ถูกปลงพระชนม์ ที่ยังคงเป็นปริศนาพูดไม่ได้เพราะกลัวว่าจะ “ระคายเคืองเบื้องพระยุคลบาท” มาตั้งแต่วันนั้นจนถึงวันนี้ ได้สร้างคุณค่าใหม่ในสังคมไทย ให้บิดเบี้ยวและผิดเพี้ยนไปจากหลักศีลธรรม จริยธรรม และความยุติธรรมเช่นที่มันควรจะเป็น มาสู่การพ่วงท้ายเติมต่อคำว่า “แบบไทยๆ” เข้าไป เพื่อแสดงว่า “มันไม่สามารถเป็นจริงได้” ในบริบทของสังคมไทย ที่วิถีชนชั้นนั้นยั่งรากลึกและนำมาสู่การเสพติดจนยากจะปลดปล่อย
สังคมชนชั้น หลายมาตรฐาน ที่กระบวนการยุติธรรมทั้งระบบพร้อมจะผ่อนปรนโทษฑัณฑ์ในสถานเบาที่สุดให้กับ ชนชั้นสูงด้วยความเชื่อว่า “เป็นคนดี” ไว้ก่อน แม้โกงก็มองไม่เห็น ส่วนคนยากจน กระบวนการยุติธรรมทั้งประเทศ พร้อมจะตัดสินโทษฑัณฑ์พวกเขาด้วย “บทลงโทษสูงสุด” ไว้ก่อน ทั้งนี้ คดีหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ เป็นคดียกเว้นที่ศาลพร้อมใจกันอ้างคำว่าเป็นคดีร้ายแรง “นำมาซึ่งความเสื่อเสียต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ อันเป็นที่เทิดทูนและเคารพสักการะ กระทบกระเทือนจิตใจปวงชนผู้จงรักภักดี”
แม้จะรับรองคณะรัฐประหารและรัฐบาลของคณะรัฐประหารนับ 10 คณะ กษัตริย์ในฐานะประมุขของชาติ ก็ทรงอยู่เหนือความขัดแย้งทางการเมืองทุกชนิด ด้วยประการฉะนี้ สถาบันพระมหากษัตริย์ของไทย ในด้านหนึ่ง จึงมีอำนาจ บารมี ทรัพย์สิน และกองกำลัง มากที่สุดและน่าเกรงขามมากที่สุด … มากกว่ารัฐบาลที่ได้รับเลือกตั้งมาบริหารประเทศ
แต่ในอีกทางหนึ่ง มันก็เหมือนดาบสองคม ที่ทำให้สถาบันพระมหากษัตริย์ไทยติดกับดักแห่งวิถี “สมมติเทพ” อยู่กับโบราณกาลแห่งพระราชประเพณี พระธรรมเนียม และคำราชาศัพท์ที่ต้องมีพจนานุกรมแปลกลับเป็นภาษาไทย และถูกสรรเสริญเทิดทูน ให้ทรงอยู่ห่างจากประชาชนมากขึ้นเรื่อยๆ
อ้อ! นับตั้งแต่ปี 2549 เป็นต้นมา มีอีกหนึ่งข้อยกเว้นในสังคม “แบบไทยๆ” คือ ทักษิณ” คือ คนเดียวในประเทศไทยที่เลวร้ายที่สุด โกงมากที่สุด และเป็นคนที่สร้างให้เกิดความเลวร้ายทุกอย่างในประเทศนี้
สถานการณ์เช่นนี้เป็นสถานการณ์ที่จำต้องเปลี่ยนแปลง โดยเฉพาะเมื่อในโลกศตวรรษที่ 21 นั้นอ่อนไหวอย่างยิ่งต่อการให้คุณค่าแห่งความเป็นคนว่ามีศักดิ์ศรีและสิทธิเสมอกัน
การปกป้องสถาบันพระมหากษัตริย์ให้อยู่ลอยลำอยู่เหนือการเมือง เหนือการปกครอง และเหนือเกล้าเหนือกระหม่อมประชาชนจนเกินไปเช่นที่เป็นอยู่ในประเทศไทย ณ ขณะนี้ ทำให้สถาบันกษัตริย์เปราะบางต่อการถูกใช้เป็นเครื่องมือของกลุ่มผลประโยชน์ เพื่อใช้ในการรังแกและเหยียบย่ำประชาชนของพระองค์มากยิ่งขึ้น
ดังนั้น หนึ่งในวิธีการที่จะลดสภาวะสุ่มเสี่ยงของการปะทะระหว่างกลุ่มประชาชนที่อยู่ กับการโหมโฆษณาประชาสัมพันธ์ “ปกป้องสถาบันฯ” และ “รักในหลวง” อย่างรุนแรงตลอดช่วง 3-4 ปีที่ผ่านมา กับประชาชนคนรากหญ้าที่รู้สึกถูกบีบคั้นด้วยความคิดว่า “คนชนบทโง่ เลือกคนเลว” มาอย่างยาวนาน จะสามารถผ่อนคลายไปได้ด้วยการเปิดพื้นที่เสรีภาพให้ประชาชนสามารถพูดกันได้อย่างตรงไปตรงมา
กฎหมายมาตรา 112 เป็นหนึ่งในต้นตอสำคัญ ที่ถูกใช้อย่างรุนแรงมากขึ้น (แม้ว่าจะมีการใช้เพื่อจัดการปิดปากการวิพากษ์วิจารณ์สถาบันพระมหากษัตริย์ มาตลอดรัชสมัยก็ตาม) นับตั้งแต่ปี 2549 ด้วยสถิติคดีความร่วมหนึ่งพันคดี และกลุ่มรอยัลลิสต์ยังมีการใช้กฎหมายมาตรานี้ฟ้องร้องนักกิจกรรมและนักศึกษา ที่แสดงออกถึงความอัดอั้นกับการเมือง “พูดความจริง” ไม่ได้ โดยล่าสุดฟ้องร้องทีมงานละคร “เจ้าสาวหมาป่า” ที่แสดงในงานรำลึก 40 ปี 14 ตุลาฯ ที่ผ่านมา
การชำระสะสางประวัติศาสตร์ไม่ได้เสียที เพราะทุกจักรกลในประเทศไทยไม่สามารถทำงานได้อย่างอิสระ โดยไม่ต้องกังวลว่าจะทำให้เป็นที่ “ระคายเคืองเบื้องพระยุคลบาท” กันมาตลอดเช่นนี้
การจะเริ่มชำระประวัติศาสตร์ ไม่มีทางหลีกเลี่ยงที่จะต้องยกเลิกกฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ มาตรา 112 หรือระงับการใช้จนกว่าจะมีการออกกฎหมายใหม่ ที่ไม่สามารถถูกใช้พร่ำเพรื่อและ/หรือเพื่อใช้กลั่นแกล้งกันทางการเมืองเช่นมาตรา 112 ในปัจจุบัน
เห็นใจกลุ่มรอยัลลิสต์ไทย แต่เราจำต้องพูดความจริงกันได้เพื่อพัฒนาสู่สังคมเหตุผล
กลุ่มรอยัลลิสต์เสื้อเหลืองตามที่เปิดเผยตัวมีทั้งราชนิกูลหลายสิบตระกูล ผู้พิพากษา ข้าราชการ พนักงานรัฐวิสาหกิจ ดารา-นักร้อง สส.พรรคประชาธิปัตย์และมวลชน รวมทั้งคนจากภาคใต้ฐานเสียงของพรรคนี้ที่เดินทางขึ้นมาร่วม เป็นกลุ่มคนไทยที่ต้องการการเยียวยาอย่างจริงจัง และกำลังอยู่ในความหวาดผวาอย่างแท้จริงว่า “ความเป็นอภิสิทธิชน” ของตนเองกำลังจะถูกท้าทายหรือถูกทำให้ลดทอนลงไป ตามการเปลี่ยนผ่านพระราชอำนาจของสถาบันพระประมุขที่คืบคลานใกล้เข้ามา
พวกเขาเป็นกลุ่มคนที่ถูกล่อหลอมทั้งจากประวัติศาสตร์ที่ไม่ได้ถูกชำระ จากการดำเนินโครงการเฉลิมพระเกียรติ ตามรอยพระราชดำริ จากการฟังข่าวในพระราชสำนัก ยืนเคารพเพลงสรรเสริญพระบารมีทุกครั้งที่ดูหนังในโรงภาพยนตร์ และจากการมอบกราบให้กับพระบรมวงศานุวงศ์มาอย่างยาวนาน จนเชื่ออย่างสนิทใจในความเป็นข้า “ใต้ฝ่าละอองธุลีพระบาทปกเกล้าปกกระหม่อม” โดยไม่เคยคิดที่จะตั้งคำถามหรือแม้แต่จะคิดตรวจสอบใดๆ ทั้งสิ้น
คนไทยสีเหลือง คือกลุ่มคนที่ได้รับอภิสิทธิชนมายาวนานจากวิถีการเมือง “ข้าในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว” ที่ถูกหล่อเลี้ยงและอุ้มชูด้วยงบประมาณและสิทธิประโยชน์อย่างมหาศาลในฐานะ ของคนเป็นข้าราชการ นักธุรกิจหัวเก่า คนบันเทิง คนเมืองหลวง หรือพนักงานรัฐวิสาหกิจ พวกเขาเป็นกลุ่มคนที่ทำหน้าที่ลุกขึ้นมาปกป้องสิทธิประโยชน์ของตัวเองอย่างจริงจังเช่นกัน
ดังนั้น คนเสื้อเหลืองจากเมืองหลวงจึงเป็นคู่ขัดแย้งกับคนเสื้อแดงจากชนบทอย่างแท้จริง ในฐานะของผู้ปกป้องอภิสิทธิ์และผลประโยชน์ของตัวเอง – ที่ไม่ต้องการให้กระจาย – ซึ่งจริงๆ แล้ว ก็คือเพื่อการรักษาช่องว่าง “ความรวย-ความจน” ในสังคมไทยให้อยู่สูงติดอันดับโลก ดังนั้นในนิยามของอภิสิทธิชน การการะจายความมั่งคั่งและเท่าเทียมไม่สามารถจะกระจายให้คนในชนบทได้ …
แต่มันถึงคราวจำเป็นที่จะต้องกระจาย เพราะคนเสื้อแดงในชนบทก็สุดทนกับวิถีชีวิตปากกัดตีนถีบที่อยู่ไกลปืนเที่ยง และไร้สวัสดิการใดๆ และก็ลุกขึ้นมาต่อสู้เพื่อเรียกร้องสิทธิที่พึงมีของพวกเขา
ทั้งคู่ (เหลือง-แดง) จึงเป็นคู่กรณีหรือถูกทำให้เป็นคู่กรณีกันจากการเมืองเลือกค่าย … แต่เพื่อความสันติสุข พวกเขาจำเป็นต้องทำความเข้าใจระหว่างกัน … และไม่มีทางอื่น นอกจากการต้องกระจายสิทธิประโยชน์เพื่อคนทั้งประเทศอย่างเท่าเทียม และต้องส่งเสริมและสร้างการเมืองให้เกิดความเข้าใจปัญหาระหว่างกัน เพื่อมิตรภาพระหว่างกัน เพื่อนำพาประเทศชาติเดินหน้าไปด้วยกัน และอย่างเท่าเทียมกัน
ภาระหน้าที่หนึ่งของรัฐบาลไทยและสังคมไทย คือ จะต้องเตรียมหามาตรการเยียวยารอยัลลิสต์อย่างจริงจัง เพราะพวกเขาช่างน่าสงสารเป็นอย่างยิ่ง และช่างมีสภาพไม่ต่างจากพ่อแม่ของอดัมในหนัง “Blast from the past” ที่ติดกับดักในบ้านหลบภัยปรมาณูใต้ดินถึง 35 ปี ด้วยความเชื่อว่ามีสงครามนิวเคลียร์ล้างโลกเกิดขึ้นจริง
สรุป … การสร้างความเข้มแข็งให้กับประชาธิปไตยไทยยังขึ้นอยู่กับพลังของคนเสื้อแดง
การเมืองประเทศไทยตลอด 80 ปีที่ผ่านมา เป็นการเมืองที่ผู้ก่อการวางระบบประชาธิปไตยทั้งหลายตระหนักดีถึงความรุนแรงต่อชีวิตประชาชน จึงเลือกวิถีการเมืองไม่แตกหัก แต่ในความไม่แตกหัก ระบบรัฐสภาและการเลือกตั้งตามครรลองประชาธิปไตยของไทย ถูกทำลายกันนับครั้งไม่ถ้วน ถ้าไม่ถูกบีบให้ยุบสภา ก็ถูกทำรัฐประหาร หรือไม่ก็ถูกศาลรัฐธรรมนูญตัดสินยุบพรรคซึ่งส่งผลให้รัฐบาลล้มไปด้วย
ทั้งนี้ระบบการเมืองไทยต้องมีการลงพระปรมาภิไธยแต่งตั้งจากพระมหากษัตริย์ที่ทรงเป็นที่เคารพสักการะ ทำให้นับตั้งแต่ทศวรรษ 2500 เป็นต้นมา รัฐบาลที่จะอยู่รอดปลอดภัยต่างก็ต้องสยบยอมกับอำนาจกระบอกปืน และเลือกดำรงวิถีการเมือง “ซื้อใจทหาร เอาใจข้าราชการ และห้ามตั้งคำถามกับสำนักพระราชวัง” ด้วยการโหมเทงบประมาณเพื่อการทหาร และโครงการเฉลิมพระเกียรติกันโดยไม่ตรึกตรองถึง “ความจำเป็น” และความสมเหตุสมผล” และผลกระทบที่จะเกิดขึ้นต่อสังคมในระยะยาว
เพื่อก้าวสู่การพัฒนาประเทศอย่างมีคุณภาพและยั้งยืน ประชาชนชาวไทยจึงมีภาระหน้าที่สำคัญยิ่ง ที่จะต้องร่วมกันนำการเมืองให้หลุดพ้นไปจากธรรมเนียมวิถีแบบเดิม และหลุดออกไปจากจุดล่อแหลมที่รัฐบาลที่เลือกมาจะถูกโค่นล้มอีกครั้งหนึ่งไปได้อย่างสันติวิธี โดยไม่มีการเสียเลือดเสียเนื้อ (อีกต่อไป) ร่วมกันทำหน้าที่พิสูจน์กับขั้วอำนาจนำในประเทศไทยว่า ประชาชนจะรักษา “หลักการประชาธิปไตย” และไม่ยอมให้รัฐบาลที่เลือกมา ถูกล้มอย่างง่ายดายด้วยทหาร ศาล หรือเกมการเมืองอันสกปรกของฝ่ายค้าน
ไม่มีใครสมควรตายเพราะสงครามกลางเมืองเพื่อชนชั้นสูงอีกแล้ว ประวัติศาสตร์ทั่วโลกมีให้เห็นมากมายถึงความเจ็บปวดสูญเสียจากสงครามกลางเมือง – สงครามระหว่างชนชั้นล่างและชนชั้นอภิสิทธิชน – หรือดูจากบทเรียนฟินแลนด์ที่กล่าวมาแล้วข้างต้น ประเทศไทยสามารถศึกษาบทเรียนรอบตัวเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดเหตุการณ์เช่นนี้ได้
กลุ่มชนชั้นนำขั้วอำนาจเก่าในสังคมไทยที่ถูกท้าทายด้วยวิถีโลกาภิวัตน์และนายทุนใหม่ จำเป็นต้องปรับตัวอย่างจริงจัง และไม่สามารถดำเนินนโยบายการเมืองสมมุติเทพอันโบราณกาลได้อีกต่อไป
ณ บัดนี้ถึงเวลาแล้ว ที่พรรคเพื่อไทย ที่เป็นพรรคที่อ้างว่าเพื่อประชาชนคนรากหญ้าที่พวกเขาต่อสู้ปกป้องมาด้วย เลือดเนื้อ ชีวิต กำลังเงิน กำลังกาย ตลอดช่วงเวลากว่า 6 ปี นับตั้งแต่รัฐบาลทักษิณถูกรัฐประหารเมื่อปี 2549 จะต้องกล้าใช้พลังเสียงของคนเสื้อแดง ต่อรองอำนาจกับขุนนางชนชั้นสูงและทหาร และทำการต่อรองอย่างเข้มแข็งมากขึ้น เพื่อพิทักษ์ผลประโยชน์และสิทธิประโยชน์ของคนส่วนใหญ่ที่เลือกให้พรรคเพื่อ ไทยได้เป็นรัฐบาล และเพื่อพิทักษ์อุดมการณ์และกติกาประชาธิปไตย
การเมืองต่อไปนี้เป็นเรื่องความความอดทนอดกลั้นต่อความคิดต่าง เป็นเรื่องของการระมัดระวังอย่างเต็มที่ที่จะไม่ให้เกิดความรุนแรงกับม็อบ การเมือง ไม่ว่าจะฝ่ายไหนทั้งสิ้น เป็นสภาวะที่คนที่มีสติในสังคมจะต้องลุกขึ้นมาเตือนสติให้ทั้งสังคม – ที่แม้ไม่ยอมรับ – ก็จำต้องเคารพในความต่างทางความคิด และสิทธิและเสรีภาพในการแสดงออกทางการเมือง ในขณะที่รัฐบาลก็จำต้องเร่งออกกฎหมายที่รับรองสิทธิและเสรีภาพของประชาชน และบริหารประเทศโดยรับฟังเสียงเรียกร้องและทัดทานจากประชาชนด้วยความใส่ใจอย่างแท้จริง
ถ้ารัฐบาลที่มาจากครรลองประชาธิปไตยเลือกตั้งสามารถอยู่ได้ครบ 2 สมัยโดยไม่ถูกยุบหรือถูกรัฐประหาร ประเทศไทยจะเริ่มมีความหวังแห่งเสถียรภาพทางการเมือง เศรษฐกิจและสังคม และโลกก็จะเลิกปฏิบัติกับไทยราวกับเป็นเด็กเล็ก และเริ่มจริงจังกับประเทศไทยมากขึ้น
* * * * * * * * *
ดูเพิ่มเติม
จะปรองดองกันถามคนเสื้อแดงก่อนนะThaiE-News, 23 กันยายน 2553
“ดูเลือกตั้งฟินแลนด์ มองเลือกตั้งประเทศไทย”
60 ปีแห่งการกดขี่สิทธิและคุกคามเสรีภาพในประเทศไทย
“ดูเลือกตั้งฟินแลนด์ มองเลือกตั้งประเทศไทย”
60 ปีแห่งการกดขี่สิทธิและคุกคามเสรีภาพในประเทศไทย
———–
หมายเหตุ
จรรยา ยิ้มประเสริฐ ว่างเว้นจากการเขียนบทความทางการเมืองมากว่าปี เพราะไม่สามารถหาสรรพนามที่ใช้เรียกแทนตัวเองได้อย่างลงตัว – เป็นเรื่องจริงที่ตลกร้ายครับ และก็เป็นเรื่องที่ผู้คนส่วนใหญ่ในสังคมไทยอาจจะรู้สึกว่า “อ่อนไหวเกินไปหรือเปล่ากับแค่สรรพนาม” … อาจจะจริงว่าอ่อนไหวเกินไป แต่คำสรรพนามที่ใช้แทนตัวก็คือตัวตนของคนๆ นั้น เนื่องจากจรรยาจริงจังกับเรื่องความเท่าเทียมกับคนอื่น ไม่ว่าจะเพศหรือสถานภาพใด การใช้สรรพนามเรียกชื่อตัวเองตามธรรมเนียม ที่บ่งบอกสถานะเพศหญิงว่า “ดิฉัน” ที่มีข้อกังขากับที่มาว่าต่ำต้อยเช่นเดรัจฉาน และก็เพราะความไม่คล่องปากกับการใช้คำนี้
เมื่อใช้ “กู” เป็นสรรพนามตลอดหนึ่งปีที่ผ่านมา ก็ตระหนักชัดว่ามันไม่สามารถก้าวขึ้นไปสู่การเป็นสรรพนามของการเขียนอะไรที่ เป็นที่ยอมรับทางวิชาการหรือทางการได้ ส่วนคำว่า “ข้าพเจ้า” แม้ว่าจะหมายถึง “ข้าของพระผู้เป็นเจ้า” ก็ตาม จรรยาก็ตั้งคำถามกับคำว่า “ข้า” เพราะแม้แต่พระผู้เป็นเจ้าที่สั่งสอนสังคมก็เพื่อให้คนหลุดพ้นจากการเป็น “ข้า” ทั้งสิ้น คำสรรพนามนี้ จึงเป็นคำสรรพนามที่จรรยาไม่รู้สึกสบายใจที่จะใช้เช่นกัน
ก็มายุติว่า นับตั้งแต่นี้ไป จรรยาจะใช้คำสรรพนามว่า “ผม” คำเดียวกับที่เพศชายใช้ ใช้เท่าเทียมกันไปทั้งหญิงและชาย ทั้งนี้ในนิยามและความหมายไม่มีอะไรบ่งชี้บอกถึงการต่ำต้อยเช่นสัตว์ เดรัจฉานหรือเป็นข้าของใคร