แม้ไม่ใช่คนสูบบุหรี่ แต่ก็ขอลองสูบบุหรี่มวนใบตอ อมก๋อย, 2003 |
จาก "หนู" "เล็ก" เป็น "กู"
เมื่อเป็นเด็ก การเรียนก็ครอบงำกูให้เป็น "หนู" ที่เรียบร้อย พูดเพราะ ทิ้งห่างจาก "กู" กับครอบครัวและเพื่อนๆ พร้อมทั้งทิ้งเสียง 'เน่อ' เอกลักษณ์สุพรรณฯ มากขึ้นจนไม่เหลือ ตามระดับการเรียนที่สูงขึ้นเรื่อยๆ เช่นกัน
พอเริ่มทำงานกูก็กลายเป็น "หนู" "น้อง" "เธอ" ที่น่ารักน่าชังของทุกคน
พอเริ่มฝีปากกล้า แก่อาวุโสด้านการงาน ก็มาตระหนกเมื่อถูกเรียกว่า "คุณ" "อาจารย์" "หัวหน้า" และ "ท่าน" จากคนที่ทำงานด้วยมากขึ้นเรื่อยๆ
กระนั้น ตลอดชีวิตวัยโตแห่งการเป็น 'หญิง' กูก็รู้สึกติดขัด คับข้องใจกับเรื่องสรรพนามไม่ลงตัวมาโดยตลอด
และก็อึดอัดที่สุดมาโดยตลอดกับการใช้สรรพนามแทนตัวเองว่า "ดิฉัน" นี่ล่ะ
มันเป็นอะไรที่ใช้ไม่เคยสนิทปากเลยสักครั้ง และกูต้องหาคำสรรพนามพูดแทนตัวเองกันวุ่นวาย
บางทีก็ใช้คำว่า "หนู" เวลาคุยกับผู้ใหญ่ พ่อแม่ป้าน้าอาหรือกับพี่ๆ ผู้แก่อาวุโสกว่า
และมักเลือกใช้คำว่า "เล็ก" และคำว่า "เรา" เวลาอยู่กับเพื่อนๆ ทั้งนี้กูมักใช้คำว่า "พี่" หรือคำว่า "เล็ก" ในเวทีสัมนาและนำเสนองาน
ก็ตราบเมื่อได้เริ่มเขียนหนังสือการเมืองมากขึ้นเรื่อยๆ นี่ล่ะ
กูจึงถูกตีกระหน่ำตลอดเวลา ด้วยตัวอักษรและเรื่องราวแห่งอุดมการณ์สร้าง "ชาติไทย" ที่ตลบแตลงและกลืนกินอัตลักษณ์และเอกลักษณ์ของทุกพื้นที่รอบกรุง เพื่อทำให้คนที่มีการศึกษาทั้งประเทศเป็น "คนกรุง" จากระบบการเรียนการสอนที่สั่งการตั้งแต่ระดับแรกเรียนจนจบมหาวิทยาลัย
กูได้ข้อสรุปว่า เมื่อเรียนหนังสือ กูก็ถูกครอบงำให้พยายามทำตัวเป็นคนดี คนมีการศึกษา ที่สุภาพเรียบร้อย อ่อนน้อมถ่อมตน เช่นชาวเมืองฟ้า เมืองสวรรค์ทั้งหลาย
แต่เมื่อเขียนหนังสือนั่นแหล่ะกูจึงรู้ว่า ถ้าจะเขียนมันอย่างซื่อตรงต่อจิตวิญญาณ และเขียนอย่างเป็นกูจริงๆ กูต้องค่อยๆ ถอดคราบแห่งความเป็นชาวเมืองฟ้า เมืองสวรรค์ที่ถูกสั่งสอนออกไปมากขึ้นเรื่อยๆ
กูเรียนเพื่อจะเป็นชาวเมืองฟ้าเมืองสวรรค์
กูเขียนหนังสือเพื่อจะเป็น "กู" เป็น "คนๆ หนึ่ง" ในประเทศไทยอีกครั้งหนึ่ง
กระนั้นการเรียนก็ไม่ได้สูญเปล่าเสียทีเดียว
อย่างน้อยมันสอนให้กูรู้จักการเขียน