3 เม.ย. 13 (5)

เรื่องวุฒิสภา ประเทศไทยอยู่ตรงไหน

วุฒิสภาไทยอยู่ตรงไหน

หมายเหตุ: ดังที่ทีมงานได้พูดเสมอถึงการเปิดกว้างให้ผู้อ่านส่งข้อมูลเข้ามาแบ่งปัน โพสต์นี้คือตัวอย่างที่เป็นรูปธรรมชิ้นแรกที่ผู้อ่านของเราเป็นผู้ตระเตรียมข้อมูลและเขียนเนื้อหาขึ้นมาเองทั้งหมด ทีมงานทำหน้าที่ตรวจสอบข้อเท็จจริงและเรียบเรียงใหม่ให้กระชับมากขึ้น
======

ผู้สนใจการเมืองหลายคนมักสงสัยว่าเอาเข้าจริงๆแล้ว วุฒิสภาคืออะไร ไม่มีวุฒิสภาได้หรือไม่ ที่มาของวุฒิสภามาจากไหน ประเทศอื่นๆเขามีวุฒิสภากันหรือไม่ และหน้าตาเป็นอย่างไรเมื่อเทียบกับวุฒิสภาของประเทศไทย

วุฒิสภาหรือสภาสูง เป็นหนึ่งในสถาบันการเมืองที่เก่าแก่ที่สุดในโลก โดยเกิดขึ้นในสมัยโรมันตั้งแต่ 735 ปีก่อนคริสตกาล คำว่าวุฒิสภา (senate) มาจากภาษาละตินว่า senax แปลว่า ผู้อาวุโส เป็นที่คาดหวังของสังคมว่าจะเป็นสถาบันการเมืองที่มีอาวุโส เป็นที่ปรึกษา ให้ความเห็นที่เป็นประโยชน์ต่อสภาผู้แทนราษฎร

อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันประเทศส่วนใหญ่ในโลกไม่มีวุฒิสภา มีเพียง 80 ประเทศในโลกเท่านั้นที่มีวุฒิสภา ในขณะที่ 114 ประเทศเลือกที่จะมีสภาผู้แทนเพียงสภาเดียว ตัวอย่างประเทศที่ยกเลิกวุฒิสภาไปหลังจากที่เคยมี เช่น นิวซีแลนด์ ยกเลิกวุฒิสภาในปี ค.ศ. 1950, เดนมาร์กในปี ค.ศ. 1954, สวีเดนในปี ค.ศ. 1970 และไอร์แลนด์ในปี ค.ศ. 1991 ส่วนประเทศเกิดใหม่หลายประเทศในโลกก็เลือกที่จะมีสภาผู้แทนราษฎรเพียงสภาเดียวมาตั้งแต่แรก เช่น อังโกลา บัลแกเรีย โคโมรอส โครเอเชีย จอร์เจีย มาลาวี หรือล่าสุดได้แก่ ติมอร์-เลสเต [1]

ประเทศที่เลือกจะไม่มีวุฒิสภามองว่า การมีสภาผู้แทนราษฎรเพียงสภาเดียวก็น่าจะเพียงพอแล้วสำหรับการเป็นตัวแทนของประชาชนในฐานะที่เป็นองค์กรที่สะท้อนเจตนารมณ์ของประชาชน การตัดสินใจใดๆ ในสภาผู้แทนจึงไม่น่าจะถูกขัดขวางจากสภาอื่นที่ไม่ได้มาจากประชาชน อีกทั้งการมีสภาเดียวจะยังทำให้ตรวจสอบได้ง่ายกว่า ประหยัดกว่า และรวดเร็วกว่า

ส่วนประเทศที่เลือกที่จะมีวุฒิสภาส่วนใหญ่จะจำกัดอำนาจวุฒิสภาไว้มากกว่าสภาผู้แทนราษฎร เช่น วุฒิสภาในประเทศอังกฤษได้ถูกจำกัดอำนาจลงอย่างมากมายหลังจากมีการประกาศพระราชบัญญัติ Parliamentary Acts ในปี ค.ศ. 1911 และ 1949 แม้บางประเทศจะให้วุฒิสภาซึ่งมีที่มาจากการเลือกตั้ง เช่น ประเทศญี่ปุ่นไม่ให้วุฒิสภาควบคุมการงบประมาณของประเทศ

ในประเทศไทยนั้นได้กำหนดให้มีวุฒิสภาเป็นครั้งแรกในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2489 โดยในสมัยนั้นเรียกว่า พฤฒิสภา และมาจากการเลือกตั้ง แต่เนื่องจากบทเฉพาะกาลในรัฐธรรมนูญกำหนดให้ในระยะแรกพฤฒิสภามาจากการแต่งตั้ง จึงไม่ได้มีการเลือกตั้งพฤฒิสภาจากรัฐธรรมนูญฉบับนี้ [2]

ปี พ.ศ. 2490 รัฐธรรมนูญไทยได้กำหนดให้มีสมาชิกวุฒิสภาเท่ากับจำนวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร และมาจากการเลือกตั้งโดยพระมหากษัตริย์ [3]

ต่อมาในรัฐธรรมนูญฉบับ พ.ศ. 2492 ได้กำหนดให้สมาชิกวุฒิสภามีจำนวน 100 คน กำหนดไว้ว่าต้องมีความรู้ความสามารถ และอายุมากกว่า 40 ปีขึ้นไป [4]

หลังจากนั้นประเทศไทยได้กลับไปใช้ระบบสภาเดี่ยว สลับกับสองสภา โดยปกติในรัฐธรรมนูญที่มีที่มาจากการรัฐประหาร ได้แก่ รัฐธรรมนูญปี พ.ศ. 2495, 2502, 2515, 2519, 2534 และ 2549 [5][6][7][8][9][10] มักกำหนดให้มีสภานิติบัญญัติแห่งชาติเพียงสภาเดียว และไม่มีวุฒิสภา แต่ถ้ามีสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรที่มาจากการเลือกตั้ง ก็มักจะมีวุฒิสภามาประกบ เช่น ในรัฐธรรมนูญ 2511, 2517, 2521 และ 2534 [11][12][13][14]

ในปี พ.ศ. 2540 รัฐธรรมนูญไทยได้กำหนดให้มีวุฒิสภามาจากการเลือกตั้งเป็นครั้งแรก และอำนาจหน้าที่เปลี่ยนไปมาก เพราะนอกจากจะมีหน้าที่กลั่นกรองร่างกฎหมายและควบคุมตรวจสอบการบริหารราชการแผ่นดินแล้ว ยังมีหน้าที่พิจารณาเสนอแต่งตั้งผู้ดำรงตำแหน่งในองค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญ การถอดถอนผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ผู้ดำรงตำแหน่งในองค์กรอิสระของรัฐตามรัฐธรรมนูญ อีกด้วย [15]

ในปี 2550 รัฐธรรมนูญ [16] ได้ย้อนกลับไปกำหนดให้วุฒิสภามาจากการเลือกตั้งผสมกับการแต่งตั้ง โดยผู้สมัคร สว. ที่จะได้รับการสรรหาจะมี 5 กลุ่ม ประกอบด้วยกลุ่มภาควิชาการ ภาคองค์กรเอกชน ภาครัฐ และภาคอื่น ๆ และได้รับการคัดเลือกโดยคณะกรรมการสรรหาสมาชิกวุฒิสภาจํานวน 7 คนคือ

1. ประธานศาลรัฐธรรมนูญ
2. ประธาน กกต.
3. ประธานผู้ตรวจการแผ่นดิน
4. ประธาน ปปช.
5. ประธาน คตง.
6. ผู้พิพากษาศาลฎีกาซึ่งที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกาเลือกมา 1 คน
7. ผู้พิพากษาศาลปกครองสูงสุดซึ่งที่ประชุมใหญ่ศาลปกครองสูงสุดเลือกมา 1 คน [17]

ในทางกลับกัน หากไปดูที่มาของคณะกรรมการสรรหาวุฒิสภาทั้ง 7 ตำแหน่ง ก็น่าสังเกตว่า ตำแหน่งเหล่านี้ล้วนมีที่มาจากการคัดเลือกโดยวุฒิสภาเช่นกัน