จรรยา ยิ้มประเสริฐ
4 เมษายน 2556
อีกหนึ่งเหตุผลที่ทำให้ตัดสินใจง่ายขึ้นในการผลิกผันจากการเป็นผู้บริหารองค์กรแรงงาน (NGO) มาสู่นักรณรงค์อิสระเรื่องการเมืองไทยคือ มันขยับงานแทบไม่ได้เลยนับตั้งแต่ปี 2549 ตั้งแต่พันธมิตรได้แนวร่วมจาก NGOs และ สหภาพแรงงานไปเกือบหมด
พอรัฐประหาร 2549 ก็แทบไม่ต้องพูดอะไรกัน การรณรงค์เรื่องสิทธิแรงงานหลายเรื่องหยุดชะงักงัน เกือบทุกองค์กรต่างก็ขยับไม่ออก และติดขัดการเมืองกันทุกด้าน
กูในฐานะ "แกะดำ NGO" คนที่ไม่เห็นด้วยและค้านการที่ NGO และสหภาพเข้าร่วมกับพันธมิตร แทบขยับงานไม่ออกเลยเช่นกัน
ทั้งแหล่งเงินทุนในไทยส่วนใหญ่เองก็เหลือง ปิดตากับการที่เงินทุนถูกเทไปกับการระดมมวลชนมาร่วมชุมนุมกับพันธมิตร หรือใช้ไปกับกิจกรรมกับพันธมิตร
สำหรับองค์กรที่ไม่เหลืองก็ต้องส้ม ต้องดำเนินนโยบายไม่ยุ่งการเมืองเพื่อไม่ให้ถูกขับออกจากประเทศ
ในหมู่เพื่อนร่วมงานหรือคนเคยทำงาน ต้องถกกันแต่เรื่อง "เอาเจ้าดีกว่าเอาทักษิณ(ทุน)" หรือ "เอาทักษิณดีกว่าเอาเจ้า" ไม่ไปไหน จนต้องตัดสินใจอยู่กันด้วยวิถี "แสวงจุดร่วม-สงวนจุดต่าง" ไม่โต้กันเรื่องเจ้าหรือหรือเรื่องทักษิณ
ต้องรักษาน้ำใจกันไว้ด้วยการไม่ถกเรื่องนี้ในองค์กร แต่มันก็ส่งผล ทำให้งานในองค์กรขยับไม่ได้มาก เพราะถ้าไม่ใช่เพราะทีมงานไปเข้าร่วมประท้วงกันเป็นส่วนใหญ่ทั้งเหลืองและแดง ก็เพราะมวลชนและแนวร่วมต่างก็วุ่นวายเพราะการเมืองเหลืองแดงไปด้วย
พากันหมดเวลาไปเยอะกับการเข้าร่วมประท้วงการเมือง เงินทุนก็ใช่ไปเพียงแค่เงินเดือน สวัสดิการและค่าบริหารองค์กรเป็นส่วนใหญ่ กิจกรรมโดยเฉพาะรณรงค์เรื่องกฎหมายนี่แทบทำอะไรไม่ได้เลย เพราะนายกและรัฐบาล (5 คณะ) และข้าราชการก็ทำงานกันแค่เอาตัวรอดไปวันๆ ให้ได้เท่านั้นเช่นกัน
งานที่พัฒนาขยับก้าวหน้ามาเยอะนับตั้งแต่ก่อตั้งองค์กรปี 2000 ก็เจอภาวะชะงักงัน จะจัดกิจกรรมอะไรก็ไม่ได้มากเพราะติดเรื่องการเมืองตลอด
กูก็เลี่ยงด้วยการไม่ประชุม NGO และไม่ค่อยเข้าร่วมเวทีแรงงานระดับชาติ แต่ตัดสินใจลงพื้นที่ตระเวณศึกษาปัญหาคนงานต่างชาติ และปัญหาหลอกลวงคนงานไทยไปต่างประเทศตามจังหวัดตะเข็บชายแดนรอบประเทศไทยอยู่สองสามปี
ได้เรียนรู้มากมาย อยากทำอะไรมากมาย แต่ก็ทำไม่ได้เต็มที่เพราะไม่มีทุนไหนให้ทำงานประเภทนี้ และเจอตอใหญ่จากพวกขบวนการค้าแรงงานข้ามชาติเข้าไปอีก
ในฐานะคนที่ต้องรับผิดชอบกับเงินทุนที่ให้สนับสนุนมาทำงาน กูก็ละอายใจที่ไม่สามารถบริหารเงินทุนปีละ 2 ล้านบาท (นี่ถือว่าน้อยมากนะ เมื่อเทียบกับ NGO อื่นๆ ทีบางองค์กรมีเงินกันปีละเป็นสิบล้าน) ได้อย่างมีประสิทธิภาพมากพอ (ดังที่ใจกูคิด) และเมื่อไม่เห็นพัฒนาการความก้าวหน้าของงาน กูก็ไม่รู้จะยันกับองค์กรให้ทุนได้อย่างไรว่าสนับสนุนเราต่อนะ หรือจะเข้าหาองค์กรให้ทุนใหม่ว่าให้สนับสนุนเรานะ ปัญหาตอนนี้มันก็เพราะเราขยับไม่ได้เพราะการเมือง
แม้องค์กรที่ให้ทุนจะเข้าใจความยากลำบากของงานด้านสิทธิ เช่นที่เราทำ แต่นโยบายขององค์กรให้ทุนในตอนนั้นจำนวนมาก ก็ตัดสินใจหยุดสนับสนุนกิจกรรมในประเทศไทย เพราะมันไม่เห็นการก้าวหน้าหรือเพราะไทยมันขยับเรื่องความยากจนเงินมาแล้ว
นี่ก็เป็นจุดหักเหขององค์กรพัฒนาเอกชนไทยหลังปี 2549 คือ หลายองค์กรต้องหาแหล่งเงินทุนใหม่ หรือเข้าหา สสส. สกว. กระทรวงต่างๆ หรือเข้าหาประเวศ (หลังอภิสิทธิ์เทเงินให้หมอประเวศบริหารปีละ 200 ล้าน)
พี่เบิ้มทั้งหลายในสายสัมพันธ์ประเวศก็เข้ามาเป็นแขนขาให้เงิน 200 ล้าน อุดปากจากรัฐบาลอภิสิทธิ์ ส่งผลให้การทำงานของ NGO ยิ่งสวนกระแสการตื่นตัวเรื่องประชาธิปไตยของมวลชน และทำให้เกิดการแปลกแยกกับมวลชนมากขึ้นไปอีก
พวกองค์กรที่แดงหน่อย ที่เล่นเรื่องสิทธิ ไม่ใช่เรื่องสังคมสงเคราะห์หรือการเมืองอำมาตย์ ก็ต้องปิดตัวลง
หรือถ้าไม่ปิดตัวก็ต้องรัดเข็มขัด ปลดลดทีมงาน ลดกิจกรรม และทำได้แค่รักษาองค์กรให้ทรงตัวอยู่ได้ไปก่อน เพราะหาเงินมาทำงานไม่ได้มากพอ
แหล่งเงินทุนจากต่างประเทศก็เจอวิกฤตเงินลดตามปัญหาเศรษฐกิจโลก และรัฐบาลเกือบทุกประเทศลดเงินสนับสนุนไปกันเยอะ เกิดการแย่งทุนกันอย่างน่าเศร้าใจ องค์กรเด่นดังในระดับนานาชาติก็ปิดตัวลงไปหลายองค์กรเช่นกันในช่วงสองสามปีที่ผ่านมา
นี่ล่ะปัญหาการทำงานพัฒนาเอกชน จริงๆ มันไม่ได้มีเงินมากมายให้คอรัปชั่นกันเท่าไร ถ้าจะคอรัปชั่นก็คือคอรัปชั่นอุดมการณ์กลายเป็นข้าราชการที่ทำงานแบบ "เช้าชามเย็นชาม" เพียงเพื่อเอาตัวเองให้รอดมากกว่า
และก็ปัญหาสำคัญอันหนึ่งก็เกิดจากการมี "จุดต่าง" กันตรงที่วิธีคิดทางการเมืองนี่ล่ะ
ถ้า NGOs ยังทำงานโดยมุ่งเอามวลชนเป็นฐานงานของตัวเองมากเกินไปเพื่อแหล่งทุนและรายงาน จนเลือกดำเนินกิจกรรมที่ไม่ส่งเสริมประชาธิปไตย หรือถึงขั้นนอกจากไม่สนับสนุนแล้วและยังเบรกการตื่นตัวของมวลชนอีกด้วย ก็จะถูกท้าทายและปฏิเสธจากมวลชนมากขึ้นเรื่อยๆ และก็อาจจะต้องโรยลาปิดตัวลงไปตามกาลวิถี
คำตอบสำหรับ NGOs และองค์กรเอกชนต่างๆ คือ ท้ายที่สุดเมื่อขบวนการประชาชนตื่นตัวเรื่องการเมือง ขบวนการคนงาน และขบวนการชาวบ้านตื่นตัวเรื่องสิทธิ องค์กรเอกชนเหล่านี้ถ้าไม่ปรับเปลียนวิถีการทำงานก็ต้องปิดตัวลงไป
------------
นับตั้งแต่ปี 2010 เมื่อลาออกจากโครงการรณรงค์เพื่อแรงงานไทย (TLC) และกลายมาเป็นนักรณรงค์เพื่อประชาธิปไตยพลัดถิ่น กูก็เลือกที่จะไม่เขียนโครงการใหญ่เพื่อขอเงินทำกิจกรรมต่อเนื่องเหมือนเดิม ทั้งนี้เนื่องจากเพราะกูไม่ได้อยู่เมืองไทย และเพราะกูก็เหนื่อยและรู้ว่าเวลาจำนวนไม่น้อยจะหมดไปกับการเขียนขอทุนและทำรายงานแหล่งทุน มากกว่าได้ทำกิจกรรม
กูจึงเลือกสู้แบบนักกิจกรรมอิสระ รับความช่วยเหลือเล็กๆ น้อยๆ จากคนที่เข้าใจ และผันตัวมาทำงานเขียนอย่างจริงจัง เพื่อหารายได้เลี้ยงปากเลี้ยงท้อง แบบปากกัดตีนถีบเช่นเดียวกับนักเขียนและชาวหาเช้ากินค่ำทั้งหลายที่เมืองไทย และก็ยังคงใช้เวลาส่วนใหญ่ติดตามสถานการณ์เมืองไทยและเขียนวิพากษ์การเมืองไทยมาต่อเนื่องจนถึงบัดนี้
แต่วิถีนักกิจกรรมอิสระแบบนี้ที่ไม่มีทุนใหญ่หนุนหลัง มันก็ขยับไปได้ช้ามาก ผ่านมาสามปีแล้ว กูก็ยังขลุกขลักอยู่กับการเอาตัวให้รอดไปพร้อมกับการรณรงค์ยกเลิกมาตรา 112 เท่าที่จะทำได้ และก็เพิ่งจะทยอยผลิตงานเขียนเป็นเล่มเพื่อขายออกมาได้เมื่อกลางปี 2012 ที่ผ่านมานี่เอง
แต่แม้จะขยับไปได้ช้า แต่นี้ก็เป็นวิถีการดำรงชีวิตของ "อดีต NGO" ไทยคนหนึ่งเลือกเดิน ณ ตอนนี้
ระหว่างเดินทางพบผู้เสียหายจากฤดูกาลเบอร์รี่ปี 2552 และถ่ายทำสารคดี "วิกฤตบลูเบอร์รี่ 2552"