19 มิ.ย. 13 "ขอเขียนถึงพี่ๆ น้องๆ ที่ยังทำนา"


เห็นใครๆ ก็พูดถึงชาวนา 
ลูกชาวนาที่ทิ้งวิถีชีวิตชาวนามาไกลโข
ขอเขียนถึงพี่ๆ น้องๆ ที่ยังทำนา


มานั่งนึกถึงครอบครัวพี่ชาย พี่สาว และน้องชายที่รัก ที่ยังคงทำนาทำไร่ที่บ้านเกิด
พวกพี่น้องเหล่านี้เป็นคนขยันและเป็นคนอดทนอย่างที่สุด

พวกเขาเป็นพลเมืองที่อ่อนน้อมถ่อมตน ขยันทำงานกันไม่เคยหยุดพักทั้งปีทั้งชาติ
ทั้งงานบ้าน งานนา งานนอกนา และงานชุมชน - ไม่ว่าจะงานบวช งานแต่ง งานศพ หรืองานวัด
ยกเว้นเมื่อยามหนุ่มสาว พี่น้องหลายคนเข้ามหานครเป็นคนขับรถตุ๊กๆ และสาวเย็บผ้าเพื่อหารายได้เสริมส่งไปให้ครอบครัว
พวกพี่ๆ น้องๆ ใช้ชีวิตอยู่ที่ถิ่นเกิดโดยไม่ไปไหนไกล นอกจากการตระเวณไปไหว้พระ 9 วัด 10 วัดแล้ว
การเดินทางไปเยี่ยมญาติในเทศกาลงานต่างๆ เป็นกิจกรรมผักผ่อนหลักๆ ของครอบครัวชาวนาที่บ้านเกิด

ยามนี้
พี่น้องหลายคนเริ่มแก่เฒ่า พร้อมโรคภัยไข้เจ็บมาเยือน ทั้งเบาหวาน ปวดข้อเข่า ไม่มีเรี่ยวแรง แพ้สารเคมีที่ใช้ฆ่าหญ้าและฆ่าแมลง และสารพัดโรคที่ต้องวิ่งเข้าหาหมอ และตอ้งกินยาวันละกำมือกันทั้งชีวิต

ยังจำได้เมื่อกลับบ้าน จะได้ยินเรื่องราวเกือบทุกครั้ง
เรื่องราวของพี่ชายน้องชาย และพี่สาว และเกษตรกรของชาติที่หมู่บ้าน ต้องถูกห้ามส่งโรงหมอให้ช่วยเร่งรักษาเพราะแพ้สารเคมีเกษตรหรือไข้ขึ้นสูง ... พวกเขาต่างบอกหมอให้ใช้ยาแรงฉีดเข้าเส้นเพื่อจะได้ไข้ลดทันที เพื่อให้มีแรงทำงานต่อทันที

ทั้งชีวิตกูและพวกพี่น้อง ไม่เคยได้ยินคำว่ารัฐอุดหนุนอะไร
ได้ยินแต่ว่ารัฐส่งเสริมให้ปลูกอะไร ปลูกพันธุ์อะไร พร้อมกับแนะนำตัวแทนขายยาฆ่าหญ้าฆ่าแมลงและอุปกรณ์การเกษตรที่ต้องใช้ควบคู่กันไปพร้อมสรรพ ให้เกษตรกรต้องได้กู้เงิน ธกส. มาเป็นทุน
สำหรับลูกชาวนานอกคอกนอกนาเช่นกู เพียงแค่ได้ยินการพูดถึงชาวนากันมากขึ้นเช่นปัจจุบันได้เห็นการถกกันเรื่องการอุดหนุนชาวนากันบ้างในปัจจุบัน กูก็ดีใจฉิบหายแล้ว 

ที่เห็นการทำงานหนักของพี่น้องกู ได้รับการตอบแทนและระลึกถึงกันบ้าง แม้ว่าพวกพี่น้องกูอาจจะชินกับการทำนา ทำไร่  และชินกับการต้องทำงานหนักและต้องรับผิดชอบดูแลตัวเองโดยรัฐไม่เคยเหลียวแลก็ตามที
การหนุนช่วยเพื่อให้พวกเขามีสภาพชีวิตที่ดีขึ้น ไม่ใช่แค่เรื่องรายได้ แต่รวมทั้งเรื่องคุณภาพชีวิต และเรื่องสุขภาพ เป็นเรื่องที่รัฐบาลไทยและพลเมืองไทยผู้กินข้าวทุกคน ควรจะตระหนักถึงกันมากขึ้น และควรจะตระหนักถึงกันมานานแล้ว

การคิดแบบคนเมืองที่ว่า ไม่พอใจก็เลิกทำนาซิ
เป็นความคิดที่ไม่เข้าใจและไม่อ่อนไหวต่อวิถีชีวิต

ก็คงไม่ต่างกันถ้าชาวนาจะบอกคนเมืองมนุษย์เงินเดือนว่า
ไม่พอใจไม่มีความสุขก็เลิกทำงานซิ

ถ้ามันเปลี่ยนวิถีชีวิตกันได้ง่ายๆ เช่นนั้น
ประเทศไทยคงไม่มีชาวนา
ประเทศไทยคงไม่มีชาวไร่
ประเทศไทยคงไม่มีหนุ่มสาวโรงงาน
ประเทศไทยคงมีแต่แต่คนอยากเป็นข้าราชการ
เพราะดูเป็นอาชีพเดียวที่ได้รับการดูแลอย่างดีที่สุดในประเทศนี้


* * * 


เขียนถึงพี่น้องชาวนาที่ยังอยู่เมืองไทยและเป็นประเด็นที่พูดถึงกันในปัจจุบัน ... น้องสาวขอแชร์ภาพเกษตรกรที่ฟินแลนด์


เกษตรกรที่ฟินแลนด์และยุโปร จำนวนมากขึ้นต้องทิ้งวิถีชีวิตเกษตรกรมาอาศัยในเมืองใหญ่กว่า เพราะอยู่ไม่ได้กับวิถีเกษตร โดยเฉพาะเกษตรกรรายย่อยหรือรายเล็ก

ในประเทศที่ยังมีการอุดหนุนและสวัสดิการสังคมเช่นที่กลุ่มสหภาพยุโรป เกษตรกรรายเล็กจำนวนมากขึ้นเรื่อยๆ ต่างพากันเลือกที่จะไม่ทำเกษตร - ที่ทั้งเหนื่อยและไม่ได้เงิน - และเลือกหันมารับค่าชดเชยการมีที่ดินแต่ไม่ต้องทำเกษตรจากสหภาพยุโรปแทน

ขบวนการชาวนาโลกบอกว่าทุกปีมีเกษตกรกว่าสี่แสนคนที่ยุโรป (ประชากรยุโรปประมาณ 600 ล้านคน) ต้องเลิกอาชีพทำการเกษตร

ไม่ใช่แค่ประเทศไทยที่การเมืองต้องถกกันเรื่องจะทำอย่างไรกับวิถีอาชีพเกษตรกรรม ที่นับวันก็ถูกทำให้กลายเป็นงานหนัก เป็นงานที่ไม่มีคุณค่า เป็นงานที่ก่อให้เกิดปัญหาต่อสุขภาพมากมายเพราะสารเคมีเกษตรที่ต้องใช้ และไม่มีใครสามารถจ่ายค่าผลผลิตได้สมกับคุณค่าพลังงานที่ใช้ลงไปกับการผลิต

เรื่องนี้เป็นวิวาทะและข้อถกเถียงทางการเมืองและเศรษฐกิจ ที่กำลังถกเถียงกันในทั่วทุกมุมโลก

และทั่วทุกประเทศในโลกนี้ เกษตรกรรายย่อย(ที่ไม่ต้องการยับ) ก็รวมตัวกันต่อสู้กับวิถีคิดแบบนายทุน แบบคนเมือง และแบบรัฐบาลนายทุนคนเมือง 

เพื่อยืนยันในสิทธิที่จะเลือก ในคุณค่าของชีวิต และในอธิปไตยในที่ดิน อาหาร น้ำ ป่า และการต่อสู้ป้องกันสิทธิในการเข้าถึงและควบคุมเมล็ดพันธุ์(ที่ถูกจดลิขสิทธิ์โดยบรรษัทเกษตรยักษ์ใหญ่เกือบหมดทุกชนิดแล้ว) กันในทุกที่ทั่วโลกเช่นกัน

การผลิตอาหารเป็นสิ่งจำเป็น เราจะยอมให้อาหารถูกผลิตโดยฟาร์มขนาดใหญ่และค้ากำไรอย่างไรก็ได้กับคนเมือง

โดยปล่อยให้คุณค่าของชีวิตเกษตรกรรายย่อยที่ยังถือเป็นพลเมือง 40-50% ในโลกนี้ต้องละทิ้งที่ดิน เลิกอาชีพเกษตรกรรม และหนุนเนื่องแห่เข้ามาแออัดหนาแน่นในเมืองกรุงเพื่อการดำรงชีวิตกระนั้นหรือ

อันเป็นปรากฎการณ์ที่เกิดขึ้นและยังคงเกิดขึ้นต่อเนื่องมาหลายสิบปีกับทุกประเทศในโลกนี้

แล้วมหานครกรุงเทพและเมืองใหญ่ๆ ของไทย มีศักยภาพมากแค่ไหนที่จะรองรับคนที่จะเข้ามาเพิ่มอีกมากมายเพราะวิถีเกษตรกรรมเป็นอาชีพที่ไม่มีศักดิ์ศรี และไม่มีความจำเป็นอีกต่อไป?

* * *

อาชีพเกษตรกรรมไม่ใช่เรื่องจินตนาการ ความฝันและพร่ำคำว่าพอเพียงอย่างไม่เข้าใจ

แต่มันเป็นอาชีพที่มีต้นทุนแพงและใช้แรงกายสูง
เช่นเดียวกับการประกอบทุกอาชีพ
มันต้องมีเครื่องมือทำงาน
ทำนามันก็ไม่ใช่มีแค่ที่ดิน แรงคน และแรงควายเท่านั้นหรอก
แต่ทำนาให้สนุกต้องมีเครื่องมือช่วยเยอะมาก



แรงจูงใจให้คนรุ่นใหม่เสี่ยงมาเก็บเบอร์รี่จำนวนหลายคนที่ได้คุยด้วย บอกว่าต้องการเอาเงินไปซื้อรถไถและเครื่องมือการเกษตร

เมื่อตามไปเยี่ยมพวกเขาที่อีสาน เห็นครอบครัวเด็กหนุ่มเก็บเบอร์รี่ 4 คน ร่วมกันใช้แทรกเตอร์(ที่ครอบครัวซื้อได้จากเงินเก็บเบอร์รี่สองสามปี ก่อนเจอปัญหา) พวกหนุ่มมาร่วมทีมงานกันขับรับจ้างเกี่ยวข้าว


เด็กหนุ่มลูกอีสาน การศึกษาไม่ต่ำเหล่านี้ บอกว่าสนุกกับการทำนา อยากทำอาชีพเกษตร แต่เป็นอาชีพเกษตรสมัยใหม่ ที่มีอุปกรณ์ช่วยงานหนัก โดยเฉพาะพวกรถแทรกเตอร์ช่วยในทุกงานหนัก ทั้งงานไถดิน พรวนดิน หว่าน ฉีดยา เก็บเกี่ยว จนถึงนวด

ตอนไปศึกษาเรื่องเบอร์รี่ก็ได้ไปพักกับครอบครัวนักกิจกรรมที่ต้องการช่วยเหลือคนงานเบอร์รี่ ที่ยังเป็นครอบครัวเกษตรกร และลูกชายเป็นนักการเมืองท้องถิ่น จบปริญาตรีแล้ว ก็ยังทำการเกษตร แต่ก็บอกว่าในหมู่บ้านเหลือคนทำเกษตรเพียงสองครอบครัวเท่านั้น หมู่บ้านเริ่มมีคนน้อยลง และร้านขายของชำที่อยู่ใกล้ที่สุด 16 กม. เพิ่มปิดตัวไป ตอนนี้จะซื้อของต้องขับรถไปถึง 50 กม.
แต่ครอบครัวนี้เลือกที่เป็นเกษตรกรและใช้ชีวิตอยู่ในพื้นที่ พวกเขาเลือกปลูกหญ้าเฮย์ (สำหรับเลี้ยงสัตว์) เป็นผลิตผลหลัก โดยบอกว่า รายได้จากค่าหญ้าช่วยจ่ายค่าใช้จ่ายหลักๆ ของบ้านได้ ส่วนรายได้เสริมก็มาจากการทำงานอื่นเอา และพวกเขาก็เลี้ยงปลาในหนองน้ำธรรมชาติ และเก็บพวกเบอร์รี่และเห็ดตุนไว้กินทั้งปี


นี่คือสภาพเกษตรกรรมในพื้นที่หนาวที่จะมีเวลาทำเกษตรได้ปีละไม่เพียง 4-5 เดือน อีก 6-7 เดือนพื้นที่เหล่านี้จะหนาวเย็นและอยู่ใต้หิมะ

การเกษตรมันไม่ได้เป็นสวรรค์หรือสวยดังภาพ แต่มันคือการเลือกวิถีชีวิตที่มาพร้อมกับภาระหน้าที่ที่หนักหนาพอควร
* * *

มาดูงานแต่งงานของโรงสีข้าวเมืองสุพรรณฯ กันฮะ
อู่ฟู่ หรูหรา อิ่มหมีพีมัน ชนิดที่ไม่ต้องรู้จักคำว่าอับอายชาวนากันบ้างเลย!

ฮือฮาขับเฟอรารี่พาเจ้าสาวเข้าวิวาห์

เดลินิวส์ วันอาทิตย์ที่ 24 มีนาคม 2556
เมื่อวันที่ 24 มี.ค. มีรายงานเมื่อช่วง้ย็นวานนี้ ที่บริษัท ศศิธร อินเตอร์ไรซ์ จำกัด ทำธุรกิจโรงสีข้าว เลขที่ 99/9 หมู่ 3 ต.สระแก้ว อ.เมือง จ.สุพรรณบุรี ได้มีการจัดงานพิธีมงคลสมรส ระหว่างนายนริศ เลิศวิไลนริศ อายุ 50 ปี เจ้าของบริษัทโรงสีข้าว กับ น.ส.ศศิธร นาคสุข อายุ 40 ปี และจัดพิธีฉลองสมรสอย่างยิ่งใหญ่ โดยทางเจ้าภาพจัดเตรียมโต๊ะจีนไว้ถึง 300 โต๊ะ มัแขกเหรื่อเข้ามาร่วมงานกว่า 3,000 คน โดยมีนายจองชัย เที่ยงธรรม อดีต รมว.แรงงานและสวัสดิการสังคม เป็นประธานพิธี ขณะที่ เพื่อนเจ้าบ่าวทำเซอร์ไพร์ ขับรถเฟอร์รารี่ ราคาคันละกว่า 20 ล้านบาท จำนวน 10 คันพาคู่บ่าวสาวเข้ามาในงาน สร้างความฮือฮาและตกตะลึงหกับแขกเหรื่อที่เดินทางเข้ามาร่วมงานเป็นอย่างมาก


* * *

ชาวนาน่ะถูกรัฐบาลหักหลังมาทุกยุคทุกสมัย
แต่รัฐบาลยิ่งลักษณ์จะอยู่รอดไหมถ้าหักหลังชาวนาครั้งนี้?

การสร้างความหวังให้ชาวนาครั้งนี้ของรัฐบาลยิ่งลักษณ์
รัฐบาลควรจะมุ่งมั่นทำตามให้ได้มากที่สุด

ถ้าจ่ายค่ารับจำนำประกันข้าวไม่ได้ตามเป้า
ก็ต้องนั่งเจรจากับขบวนการชาวนา เพื่อพูดคุยกันเรื่องชดเชยด้วยระบบอุดหนุนการเกษตรในรูปแบบอื่น เสริมเพิ่มเติมขึ้นมาจนเป็นที่พอใจของชาวนา

และรัฐบาลก็ควรจะกล้าหาญ เชิญชวนชาวนารายย่อยร่วมมือกับรัฐบาลในการขจัดมาเฟียคุมและกินค่าหัวคิวการตลาดข้าวกันให้สำเร็จเสียที!