10 พ.ค. 13 (4)

กูไม่ได้คิดเรื่องหลินปินและสหายแพนด้าในไทยในเรื่องเงินที่เราต้องเสีย

ขอเขียนเรื่องเช่าแพนด้ารายปีที่อาจจะไม่ถูกใจหลายคน เพราะไม่ได้เขียนขึ้นด้วยเหตุผลด้านเสียดายมูลค่าเงิน แต่เพราะสัตว์น้อยแสนน่ารักเช่นแพนด้าที่กำลังสูญพัน ธุ์และมีอยู่เพียงประมาณ 2,000 ตัวเท่านั้นที่จีน จึงถูกรัฐบาลจีนนำมาสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจให้เช่าแพนด้าหาเงินอย่างเป็นล่ำเป็นสันปีละ 1 ล้านดอลลาร์ไม่ว่าให้เช่ากับใครหรือประเทศไหน

การวิจารณ์รัฐบาลจีนในเรื่องนี้ คือ รัฐบาลจีนกำลังค้ากำไรกับแพนด้าเกินไป โดยไม่ได้ใช้เงินที่ให้เช่าแพนด้ากับชาวโลกทั้งหลายนั้น เพื่อการอนุรักษ์แพนด้าป่าดีพอหรือเปล่า และรัฐบาลจีนมุ่งผสมเทียมแพนด้าเป็นหลักเพื่อผลิตให้พอกับจำนวนสั่งเช่า โดยไม่สนใจว่าแพนด้าเหล่านี้จะปรับตัวเข้ากับธรรมชาติได้หรือไม่

ดูนโยบายแพนด้า ก็มาดูนโยบายเรื่องสัตว์ป่าไทย อาทิ ช้างป่าในไทย ที่ประมาณการว่าเหลืออยู่เพียง 2,000 -3,000 เชือกเท่านั้น (เช่นกัน) แต่เนื่องจากช้างป่าไทยไม่ได้น่ารักน่ากอดเท่าแพนด้า นโยบายการคุ้มครองและดูแลช้างไทยจึงดูเหมือนยังน้อยมากและอยู่ในมือของมูลนิธิเอกชนเสียเป็นส่วนใหญ่ด้วย

จะสนใจกันทีก็เมื่อได้ข่าวเรื่องช้างเผือก แล้วก็จะพากันบ้าคลั่งไปจับมายังวัง เพราะถือว่าเป็นสัตว์เสริมบารมีกษัตริย์

เมื่อดูกระแสคนวิจารณ์ว่าเสียเงินทำไมไปกับการทุ่มเงินเพื่อเช่าแพนด้าตัวละ 1 ล้านดอลลาร์ต่อปี และค่าดูแลรักษาอีกปีละหลายล้านบาท ทำไมไม่เอามาทำประโยชน์อย่างอื่น

ก็ขอเตือนความจำพวกเราว่า งบประมาณแผ่นดินที่ให้รัฐบาลดูและหลายหน่วยงานถลุงเล่นกันอย่างไม่รู้สึกสะทกสะท้านปีละกว่า 2 ล้านล้านบาท โดยที่ผู้ที่เข้าถึงและได้ใช้เงินจากงบประมาณเหล่านี้จำนวนไม่น้อย ไม่ได้แสดงท่าทีสำนึกบุญคุณภาษี และไม่รู้สึกว่าต้องใช้จ่ายอย่างรอบคอบ ประหยัด และรับผิดชอบต่อภาษีและเงินกู้ที่กู้มาโปะงบประมาณขาดดุลปีละ 30-40% เลยแม้แต่น้อย

ดังนั้นเงิน 30 ล้านบาทมันจึงน้อยมากเมื่อเทียบกับ 2 ล้านล้านบาท

แต่ก็ไม่ได้หมายความว่า จ่ายๆ ไปเหอะเงินแค่นี้ โดยไม่ต้องคิดให้รอบคอบ และหน่วยงานที่รับผิดชอบ ก็ควรจะคิดว่าจะใช้ประโยชน์สูงสุดจากแพนด้าแสนแพงนี้ ในด้านการให้ศึกษาและธรรมชาติของสัตว์ที่ใกล้จะสูญพันธ์ุเช่นแพนด้ากับเด็กไทยและคนไทย

เรื่องจริงที่ยังเป็นเรื่องพูดไม่ได้ในไทย คือ ประเทศไทยเสียเงินไปกับเรื่องไร้สาระเยอะแยะมากมายก่ายกองกว่านี้มากนัก

หลายเรื่องก็เป็นเรื่องที่ประชาชนพูดอะไรหรือวิจารณ์อะไรไม่ได้เลย โดยเฉพาะเมื่อเกี่ยวกับงบทหาร และงบเกี่ยวกับวัง เกี่ยวกับโครงการพระราชดำริ และงบจัดพระราชพิธีต่างๆ ที่คิดเป็นเงินแล้วปีละหลายพันหลายหมื่นล้านบาท

ประเด็นที่น่าคิด คือ รัฐบาลไทยจะใช้เรื่องที่ "ไทยจ่ายได้" เพื่อให้มีแพนด้าให้เด็กและครอบครัวไทยได้มาเที่ยวสวนสัตว์เชียงใหม่ เพื่อการจะ "จ่ายได้มากขึ้น" กับการดูแลป่า สัตว์ป่าและธรรมชาติของไทยได้มากขึ้นหรือไม่

โดยไม่ใช่ตั้งอยู่บนแนวคิด "สีเขียวสุดโต่ง" ที่ผลักดันชาวบ้านออกจากป่า ที่ไม่ยอมรับว่าชาวบ้านจำนวนหนึ่งช่วยรักษาป่าจากนายทุนเมือง และที่ไม่จริงจังกับการจัดการกับรุกคืบและแย่งที่ดินพื้นที่ป่าของนายทุนน้อย นายทุนใหญ่และเครือญาตินักการเมือง ที่เป็นปัญหาวุ่นวายกันอยู่ทั่วประเทศ ณ ขณะนี้

อืม! กลับไปเชียงใหม่คงต้องหาโอกาสไปเยียมเยียนแพนด้าซะแล้ว!
http://news.mthai.com/general-news/237597.html/comment-page-1#comments

* * *

กระทู้นี้เกิดจากความรู้สึกได้เห็นคอมเมนต์ประเภท "จะจ่าย 30 หรือ 40 ล้านให้กับแพนด้าที่เป็นสัตว์เดรัจฉานไปทำไม" น่ะฮะ

เห็นคำว่า "สัตว์เดรัจฉาน" แล้วก็อึ้งนะ 
กูคิดว่าคำนี้ต้องนิยามกันใหม่หรือว่าเลิกใช้ไปเหมือนกัน

เพราะ "เดรัจฉาน" ที่ตามความเข้าใจมาพร้อมกับความหมายว่า ใช้ชีวิตตามสัญชาติญาณดิบป่าเถื่อน ไร้อารยะ ไร้ปัญญา ไร้อารมณ์ความรู้สึกรักใคร่ผูกพันและดูแลกันและกัน อาจจะไม่ได้ครอบคลุมแค่สัตว์ป่าเท่านั้น

แต่กูก็ไม่ยอมรับการใช้คำนี้แบบเหมารวมว่า แบบเพราะเป็นสัตว์ เพราะเป็นคนชนชั้นต่ำกว่า หรือเพราะเป็นเพศหญิง จึงถูกเรียกว่า "เดรัจฉาน" ได้

ยิ่งเมื่อโลกวิทยาศาสตร์เผยแพร่เรื่องวิถีชีวิตสัตว์มากขึ้น ก็ทำให้เห็นว่าสัตว์หลายชนิดมีอารยะและมีอารมณ์ความรู้สึกและรักใคร่ผูกพันและดูแลกันยิ่งกว่า "สัตว์มนุษย์" ก็เยอะนะ

เพราะเป็นสัตว์ (ที่ไม่ใช่สัตว์มนุษย์) จึงถูกเรียกว่า "สัตว์เดรัจฉาน" กันโดยทันทีอาจจะไม่ได้เสียทีเดียวในโลกปัจจุบัน ที่มีการศึกษาเกี่ยวกับสิ่งมีชีวิตที่เรียกว่า "สัตว์" ในหลายเผ่าพันธุ์ที่อยู่ร่วมกับ "สัตว์มนุษย์" ในโลกใบนี้

สัตว์ที่ถูกมนุษย์เข่นฆ่าสังหารมากมายจนสูญพันธ์ุกันไปจำนวนมาก