2 พ.ค. 13 (รายงานวันกรรมกรสากลที่ฟินแลนด์)


1 พฤษภาคม 2556
จรรยา ยิ้มประเสริฐ
เฮลซิงกิ, ฟินแลนด์
ที่ฟินแลนด์มีพรรคแรงงานที่เปลี่ยนชื่อเป็นพรรคสังคมนิยมประชาธิปไตย (Social Democratic Party - SDP) เมื่อปี 1903 ซึ่งเป็นพรรคที่มักจะได้รับเลือกตั้งและจัดตั้งรัฐบาล แต่แพ้เมื่อสมัยเลือกตั้งที่ผ่านมา แต่ก็ยังได้ร่วมจัดตั้งรัฐบาล ในขบวนวันกรรมกรสากลที่นี่ ธงทิวของพรรคนี้จึงอยู่ในแถวแรกของขบวน และก็จะตามมาด้วยพรรคต่างๆ และทั้งของพรรคคอมมิวนิสต์ พรรคแนวร่วมฝ่ายซ้าย กลุ่มมาร์กซิสต์ และกลุ่มต่างๆ อีกมากมายที่เข้าร่วม
มาเดินกันทั้งครอบครัว

อยากให้วันกรรมกรสากลเมืองไทยมีอากาศแบบนี้บ้างจังเลย คนเดินขบวนจะได้ไม่ร้อนมาก เพื่อจะได้ออกมาเดินขบวนกันเยอะๆ

วันกรรมกรสากลที่ฟินแลนด์

วันที่ 1 พฤศภาคม ที่ฟินแลนด์นี่จะถือเป็นวันสำคัญๆ หลายวันทีเดียว ไม่ใช่เฉพาะวันกรรมกรสากลเท่านั้น แต่เป็นทั้งวันกรรมกรสากล วันครอบครัว วันเฉลิมฉลองการจบการศึกษาระดับมัธยม วันปักธงชาติ วันรับฤดูใบไม้ผลิ และวันกินไอศครีม (เท่าที่รู้ตอนนี้ฮะ ปีหน้าอาจจะรู้จักเพ่ิมเติมขึ้นอีกว่ายังเป็นวันอะไรอีก)

วันฉลองการจบการศึกษาระดับมัธยมและการก้าวสู่ความเป็นผู้ใหญ่

เพื่อนชาวฟินน์บอกว่า การจบมัธยมปลายถือเป็นประเพณีสำคัญของคนที่นี่ เพราะถือว่ามีการศึกษา และพ้นจากวัยเด็กเป็นวัยผู้ใหญ่ แต่ละโรงเรียนจะงานปาร์ตี้ฉลองเทศกาลจบการศึกษา โดยทั้งเด็กและครอบครัวจะพากันแต่งตัวสวยงามมาร่วมงานเพื่อถ่ายรูปร่วมกัน โดยจะมีการมอบหมวกขาวเป็นสัญลักษณ์การจบการศึกษาให้กับนักเรียน
คนฟินน์จะใส่หมวกนี้ดื่มกินฉลองกันทุกปี ตั้งแต่ค่ำวันที่ 30 เมษายน จนถึงค่ำคืนของวันที่ 1 พฤษภาคม (เพื่อนบอกว่าเป็นวันกินและวันต้องเมาเละกันเลยล่ะฮะ)
เด็กใหม่หมวกก็ยังใหม่อยู่ แต่ยิ่งอายุมากเข้า หมวกก็จะมีความขลังมากขึ้นตามริ้วรอยการใช้ และสีที่หม่นเหลืองลงเรื่อยๆ วันนี้เห็นหลายคนประดับหมวกด้วยเข็มและสัญลัษณ์ต่างๆ อย่างเก๋ไก๋
เห็นหมวกขาวบนหัวที่ใส่กันเกือบทุกคนไหม หมวกนี้แต่ละคนจะได้รับเมื่อจบชั้นมัธยมปลาย เป็นสัญลักษณ์ของการก้าวสู่ความเป็นผู้ใหญ่ และการเป็นผุ้มีการศึกษา ฟินแลนด์ให้ความสำคัญกับการศึกษามากทั้งอุดทั้งหนุนจนจบปริญญาเอกกันเลย
เพื่อนยังเล่าอีกว่า การฉลองการสำเร็จการศึกษา จะไปจัดกันอีกทีก็ตอนจบปริญญาโทหรือปริญญาเอก ส่วนปริญญาตรีที่นี่ไม่ค่อยให้ความสำคัญ
ส่วนมากนักศึกษาจะเรียนต่อไปจนถึงปริญญาโทและไปฉลองและมอบประกาศนียบัตรกันตอนนั้นเลย ปริญญาตรีก็แค่ไปเอาใบประกาศนียบัตรเท่านั้น
ซึ่งเรื่องนี้ต่างจากที่เมืองไทยมาก เมืองไทยไม่ให้ความสำคัญกับการจบม. 6 เท่าไร และเด็กที่จบม. 6 ที่ถ้าไม่ได้รีบหางานทำ ต่างก็พากันวุ่นวายกับการหาที่เรียนต่อและการวิ่งสอบเข้ามหาวิทยาลัย
ความเป็นเด็กที่ผู้ใหญ่ไม่ยอมรับว่าโตแล้ว ก็็ถูกส่งทอดต่อไปยังมหาวิทยาลัย และต้องปฏิบัติตัวไม่ต่างกับเด็กมัธยม ด้วยการต้องใส่ชุดนักศึกษา การเช็คชื่อเข้าชั้นเรียน และปฏิบัติตามกฎระเบียบต่างๆ ที่ไม่ต่างจากการบังคับใช้กับเด็กมัธยม
ที่ฟินแลนด์ไม่มีเครื่องแบบนักเรียนเลยตั้งแต่เริ่มการศึกษาจนจบการศึกษา จะมีชุดพิเศษที่มีสไตล์เดียวกันบ้างก็เป็นพวกชุดลุยที่ต้องเปรอะเปื้อนทั้งหลาย ซึ่งจะเป็นเอี้ยมที่แต่ละคนจะแต่งลวดลายกันเอาเอง สุดเหวี่ยงแค่ไหนก็ได้
เพื่อนจากวิทยาลัยศิลปะเอาเชือกสีมาคล้องคอให้บอกว่าวันนี้ทุกคนต้องผูกเชือกนี้ พร้อมโชว์หมวกสำเร็จการศึกษา ที่ขลังมากแล้ว เพราะใช้มานาน และเล่าเกี่ยวกับการศึกษาที่ฟินแลนด์ให้ฟัง

วันกรรมกรสากลคือวันครอบครัว

ด้วยอุดมการณ์ของวันกรรมกรสากลนับตั้งแต่เริ่มต้นเมื่อปี 1886 (พ.ศ. 2429) คือการทำให้การจ้างงานดูแลทั้งตัวคนทำงานและครอบครัว รวมทั้งสวัสดิการสังคมที่รัฐจัดให้และสร้างหลักประกันว่าจะดูแลประชากรทุกคน ตั้งแต่เกิดจนตาย
วันกรรมกรสากลในหลายประเทศจึงถือเป็นวันครอบครัวไปด้วย เป็นวันที่ทั้งครอบครัวจะใช้เวลาร่วมกัน
ที่ฟินแลนด์เนื่องจากช่วงนี้เป็นช่วงการเปลี่ยนฤดูกาล หิมะเพิ่งจะละลายหมดต้นไม้ใบหญ่าเริ่มผลิใบ วันนี้จึงถือเป็นวันต้อนรับฤดูใบไม้ผลิด้วยเช่นกัน
ที่บริเวณจัดเวทีวันกรรมกรสากล รอบๆ บริเวณจะมีมุมเต็นท์ร้านอาหารและเครื่องดืมรายรอบ (ที่ไร้โฟม - จะใช้จานและกล่องกระดาษใส่อาหาร และถ้วยกระดาษใส่กาแฟหรือเครื่องดื่มร้อน) มีมุมเด็ก และจะเห็นพ่อแม่จูงลูก ดันรถเข็นเด็ก กระจายอยู่ทั่วไป
มุมเด็กอยู่ห่างจากเวทีงานวันกรรมกรสากลมาทางด้านหลัง ให้พ่อแม่พาลูกๆ มาเล่น

วันกินไอศครีม

นอกจากนี้เพื่อนยังเล่าว่า วันนี้ถือเป็นวันกินไอศครีมด้วย (อาจจะเป็นการเรียกขานกันแบบไม่เป็นทางการฮะ)
มิน่าล่ะ ผู้เขียนเห็นคนเข้าคิวซื้อไอศครีมในบูธขายที่เดินผ่านมา และเพื่อนที่พบกันระหว่างทางถึงกับตาลุกวาว เมื่อผู้เขียนบอกเธอว่ามีบูธขายไอศครีมอยู่ข้างหน้า เธอเป็นคนบอกกับผู้เขียนเองล่ะว่า วันนี้เป็นวันกินไอศครีมด้วย และบอกว่าบูธขายไอศครีมที่เธอผ่านมาคิวยาวเป็นชั่วโมงรอไม่ไหว และก็ดีใจว่ายังมีบูธไอศครีมอยู่ข้างหน้า
ผู้เขียนขอบายฮะ ทานไอติมไม่ไหวแน่ ยังหนาวอยู่ซะขนาดนี้ แม้ว่าแดดจะออกก็เถอะ แต่มันก็แค่อุ่นไม่ร้อนระอุจนอยากทานแต่ไอติมเช่นอากาศร้อนที่เมืองไทย

วันประดับธงชาติ

นอกจากเป็นวันครอบครัว วันกินไอศครีมแล้ว วันนี้ยังเป็นวันติดประดับธงชาติด้วยเช่นกัน แต่ก็ไม่ค่อยเห็นประดับกันฮะ นอกจากอาคารใหญ่ๆ เท่านั้น ดูเหมือนว่าความเป็นชาตินิยม ที่ผู้คนที่นี่เร่ิมกังวล ยังน่าจะห่างไกลจากความคลั่งชาติของไทยอยู่มากโข
ภาพด้านล่างนี้เป็นภาพธงชาติที่ประดับยอดอาคารโรงละครแห่งชาติฟินแลนด์
ธงชาติฟินแลนด์โบกสะพัดบนตึกโรงละครแห่งชาติ รูปปั้นหน้าโรงละครคือ Aleksis Kivi (1834-1872) นักเขียนที่มีชื่อเสียงที่สุดคนหนึ่งของฟินแลนด์ ที่ส่งผลต่อการฟื้นฟูภาษาฟินแลนด์ในงานวรรณกรรมและการใช้เป็นภาษาทางการ

วันกรรมกรสากล
อุดมการณ์ทางชนชั้นไม่จางหายหมดไปแม้สังคมจะสุขสบายขึ้นมาก

ถ่ายภาพร่วมกับผู้ถือป้ายสมานฉันท์กับคนงานกรีก

กระนั้นสิ่งหนึ่งที่วันกรรมกรสากลในประเทศประชาชนกว่า 70 -80% เป็นสมาชิกสหภาพแรงงาน และถือว่าสหภาพครองการเมือง ที่แม้สังคมจะผ่อนคลายเรื่องการต่อสู้ทางชนชั้น ก็คือ ประชาชนก็ไม่เคยลืมว่าความอยู่ดีกินดีได้มาด้วยการต่อสู้
ตามที่รับรู้มาจากการบอกเล่าของเพื่อนที่นี่หลายๆ คน 70-80% ของคนในวัยทำงานที่นี่ เป็นสมาชิกสหภาพแรงงาน ซึ่งทั้งหมดเป็นสหภาพแรงงานระดับชาติ และเป็นสมาชิกสภาแรงงานแห่งชาติที่มีเพียงแห่งเดียว จึงมีเอกภาพสูงมาก ต่อรองได้ทั้งกับรัฐบาลและนายจ้าง
สหภาพแรงงานตามสาขาอาชีพระดับชาติ หมายความว่า ไม่ว่าจะอยู่บริษัทอะไร สอนที่โรงเรียนไหน หรือมีนายจ้างชื่ออะไร ก็สามารถเป็นสมาชิกสหภาพแรงงานในสาขาอาชีพนั้นๆ ที่ทำอยู่ได้เหมือนกันหมดทุกคน
ซึ่งรูปแบบสหภาพแรงงานแบบนี้ที่เมืองไทยไม่ส่งเสริม เพราะมันเป็นรูปแบบสหภาพที่ทำให้การรวมตัวของคนงานเป็นสหภาพแรงงานง่ายและจะมีจำนวนสมาชิกสูงมาก จนนายจ้างไม่สามารถสะกัดกั้นการเข้าร่วมสหภาพได้ง่ายนัก(การต้านการเข้าร่วมเป็นสมาชิกสหภาพที่นี่ ถือเป็นคดีที่ลูกจ้างมีสิทธิฟ้องร้องนายจ้างได้เช่นกัน ในข้อหาขัดขวางสิทธิการเข้าเป็นสมาชิกสหภาพแรงงาน)
การรวมตัวเป็นสหภาพแรงงานระดับชาติ เป็นหนึ่งในเหตุผลสำคัญที่ทำให้ที่ฟินแลนด์มีสัดส่วนสมาชิกสหภาพแรงงานจึงสูงมากในระดับที่สูงที่สุดในโลกประเทศต้นๆ ก็ว่าได้
และมีสหภาพแรงงานเป็นตัวแทนของคนงานทุกสาขาอาชีพ  ไม่ว่าจะทำงานก่อสร้าง คนงานภาคเกษตร พนักงานขายของ พนักงานธนาคาร ครูสอนหนังสือ พนักงานไปรษณีย์ คนทำงานป่าไม้ คนโรงงานกระดาษ คนขับรถขนส่ง สายการบิน รวมทั้งคนงานต่างชาติด้วย – ทุกสาขาอาชีพเลยทีเดียว
สหภาพแรงงานที่นี่จึงไม่ใช่สัญลักษณ์ของคนชั้นต่ำ ของคนงานไร้ฝีมือ คนงานอาบเหงื่อต่างน้ำ ที่ดูไร้ศักดิ์ศรีเช่นที่คนมีการศึกษาเมืองไทยมักจะคิดจะเชื่อกัน
คนรุ่นใหม่มาเดินกันเยอะพอดู ตรงนี้จะอยู่กลางขบวน ท้ายขบวนยังอยู่อีกยาว
​ย้ำอีกครั้งว่า ความความเข็มแข็งของสหภาพที่นี่ คือ “การเป็นสมาชิกสหภาพแรงงานแห่งชาติ” ที่คนงานทุกคนที่ประกอบอาชีพนั้นๆ ร่วมเป็นสมาชิกได้หมด ไม่ว่าจะมีนายจ้างเป็นใครก็ตาม
ดังนั้น เวลามีปัญหาข้อพิพาทแรงงาน นายจ้างจึงไม่ได้สู้กับลูกจ้างตัวเองเท่านั้น แต่จะต้องเจอกับทนายของสหภาพแม่ที่มีความเชี่ยวชาญในการเจรจาต่อรองทำหน้าที่แทนคนงาน จึงทำให้นายจ้างที่นี่ไม่กล้าหือกับสหภาพเท่าไร
ไม่เหมือนเมืองไทยอีกแล้ว  ที่รัฐและนายจ้างที่เมืองไทย มักจะพยายามบีบให้ลูกจ้างตั้งสหภาพในระดับสถานประกอบการ ไม่ให้รวมตัวกันเป็นสหภาพอุตสาหกรรมหรือสาขาอาชีพเดียวกันในระดับชาติ
นายจ้างไทยยังชอบฟ้องคนงานโดยเฉพาะแกนนำสหภาพขึ้นโรงขึ้นศาลด้วยข้อหาต่างๆ นาๆ เพราะนายจ้างเท่านั้นที่มีอำนาจจ่ายค่าทนาย แต่สหภาพและคนงานที่เมืองไทยมักจะไม่มีเงินค่าทนาย โดยเฉพาะเมื่อเพิ่งจะก่อการตั้งสหภาพ หรือยังก่อตั้งไม่สำเร็จ และไม่มีเงินค่าสมาชิกมากพอจ่ายค่าทนาย
ทำให้การตั้งสหภาพแรงงานที่เมืองไทยมักจะถูกล้มกันหลายครั้งกว่าจะสำเร็จ และทำให้สัดส่วนสมาชิกสหภาพที่เมืองไทย – ที่มีถึงกว่า 1,300 สหภาพ 19 สหพันธ์ และ 13 หรือ 14 สภาแรงงานเข้าไปแล้ว – คิดเป็นสัดส่วนสมาชิกสหภาพเพียง 1.4% ของกำลังแรงแรงงานทั้งประเทศ 40 ล้านคน ไม่ใช่ 70-80% ของกำลังแรงงานทั้งประเทศเช่นที่ฟินแลนด์หรือทุกประเทศในยุโรปเหนือ
อยากเห็นคนไทยทุกสาขาอาชีพรวมตัวกันเป็นสหภาพแรงงานแห่งชาติจริงๆ เลย
วันนี้ร่วมเดินขบวนวันกรรมกรสากลที่เฮลซิงกิ เป็นการเดินขบวนที่ใหญ่ที่สุดประจำปีของขบวนการแรงงานที่นี่ เป็นการเดินขบวนของค่ายซ้ายทั้งสังคมนิยมประชาธิปไตย สังคมนิยม มาร์กซิส และคอมมิวนิสต์ คนเยอะมาก แถวยาวเหยียดเป็นกิโลทีเดียว (ตามความรู้สึกของจรรยาฮะ)

ชูป้าย “ปล่อยนักโทษการเมือง” และ “ยกเลิกกฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ

เนื่องจากเมืองไทยยังมีนักโทษการเมืองอยู่ในคุกอีกกว่า 30 คน โดยเป็นนักโทษคดีหมิ่นพระบรมเดชานุภาพที่ยังอยู่ในคุก 7 คน ที่มีนักสิทธิแรงงานคนสำคัญได้แก่ สมยศ พฤกษาเกษมสุข อยู่ในคุกด้วย
และยังมีนักสิทธิแรงงานไทยหลายคน ที่ต้องลี้ภัยและตัดสินใจเคลื่อนไหวอยู่ต่างประเทศเพราะกฎหมายมาตรา 112 ทั้ง อ. ใจ อึ้งภากรณ์ นุ่มนวล ยัพราช โชติศักดิ์​ อ่อนสูง และตัวผู้เขียนเอง จรรยา ยิ้มประเสริฐ เป็นต้น
ปีนี้ขบวนการแรงงานปีกซ้ายในสองสามประเทศ จึงได้มีการพูดคุยกัน และตัดสินใจประกาศเชิญชวนขบวนการแรงงานทั่วโลกร่วมสมานฉันท์กับแรงงานไทยด้วยการชูข้อเรียกร้อง “ปล่อยตัวสมยศ ปล่อยตัวนักโทษการเมือง นักโทษมาตรา 112″  และ “เรียกร้องยกเลิกกฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพของไทย” บรรจุไว้ในริ้วขบวนวันกรรมกรสากลของแต่ละประเทศด้วย
จรรยาไปพร้อมป้ายภาษาอังกฤษแปลไทยว่า "ปล่อยนักโทษการเมือง" "ยกเลิกกฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพในประเทศไทย" รู้สึกว่าคนจะสนใจมองป้ายนี้กันมากตลอดเส้นทางที่ผ่านจุดสำคัญๆ ของเฮลซิงกิ และถ่ายรูปกันเยอะทีเดียวฮะ
ดังนั้น เมื่อจรรยา อยู่ที่ฟินแลนด์ จึงได้เข้าร่วมเดินขบวนวันกรรมกรสากลที่นี่ในปีนี้ ด้วยป้ายภาษาอังกฤษ “Free All Political Prisoners” “Abolish Les Majeste Law in Thailand”  แปลความได้ว่า “ปล่อยตัวนักโทษการเมือง” และ “ยกเลิกกฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ”
และได้ถือโอกาสนี้บอกเล่าเรื่องราวเกี่ยวกับปัญหามาตรา 112 กับประเทศไทยให้คนที่ร่วมเดินขบวนรับทราบด้วย
กับ Dan นักสหภาพแรงงานซ้ายใหม่ ที่เป็นคนหนึ่งที่ให้ความช่วยเหลือในการผลักดันเรื่องมาตราการช่วยเหลือและคุ้มครองคนงานเก็บเบอร์รี่ชาวไทยที่ฟินแลนด์
ทั้งนี้เพราะประเทศไทยเป็นประเทศยอดนิยมที่ชาวฟินน์ปีละเป็นแสนคนเดินทางมาเที่ยวทุกปี พวกเขาควรจะได้รับรู้เกี่ยวกับปัญหามาตรา 112 ที่มีต่อคนไทย ไม่ใช่รับทราบจากคู่มือการท่องเที่ยวที่บอกเพียงว่า “ให้หลีกเลี่ยงที่จะพูดถึงสถาบันฯ ไทยให้มากที่สุด”
หลายคนร่วมชูป้าย No มาตรา 112" ในวันนี้ด้วย ชายหนุ่มคนนี้เป็นนักข่าวรุ่นใหม่หัวใจเสรีภาพ

เก็บตกภาพบรรยากาศมาฝาก

ที่ฟินแลนด์ใส่ใจเรื่องผังเมืองมาก ไม่ค่อยเห็นการระบายสีตึกต่างๆ วันนี้เพื่อนชี้ให้ดูคำขวัญใต้สะพานและแปลให้ฟังพอจับใจความได้ว่า "ถ้าพรุ่งนี้ตื่นมา แล้วพบว่าดนตรีมันหายไปสิ้น"
วันนี้คนเยอะจริงๆ ราวกับว่าคนทั้งเฮลซิงกิออกมาอยู่บนท้องถนนกันหมดทั้งเมืองจริงๆ เชียว
เรือไวกิ้ง เดินทางระหว่างฟินแลนด์กับสวีเดน และเอสโตเนีย

เกี่ยวกับการมาเป็นสาธารณรัฐฟินแลนด์พอสังเขป

ฟินแลนด์ เป็นประเทศที่แม้พื้นที่ไม่เล็กนัก (ประมาณ 60% ของพื้นที่ในประเทศไทย) แต่มีจำนวนประชากรเพียงประมาณ 5 ล้านคน
ความเหนื่อยยากของฟินแลนด์  คือ เป็นประเทศที่อยู่ท่ามกลางมหาอำนาจ และเป็นประเทศกันชนระหว่างรัสเซียและยุโรปเหนือ
ประวัติศาสตร์ของประเทศนี้นับตั้งแต่ศตวรรษที่ 15 เป็นต้นมา จึงเป็นประวัติศาสตร์ของการต่อรองอำนาจกับประเทศใหญ่ (สวีเดน รัสเซีย เยอรมัน) และมีการสู้รบเรื่องดินแดนและปกป้องอำนาจกันไม่หยุดหย่อน
ทั้งนี้ในช่วงศตวรรษที่ 15-18 ฟินแลนด์ถูกผนวกเป็นส่วนหนึ่งของสวีเดน
แต่นับตั้งแต่ปลายศตวรรษที่ 17 เป็นต้นมา รัสเซียเริ่มแผ่อิทธิพลเข้ามา และทางกษัตริย์สวีเดนก็พยายามปลุกให้คนพื้นถิ่นชาวฟินแลนด์ต่อสู้ป้องกันดินแดนจากรัสเซีย แต่ก็พ่ายแพ้เป็นส่วนใหญ่
ในปี 1809 ฟินแลนด์หลุดจากการอยู่ใต้การครอบครองจากสวีเดน แต่ก็มาตกอยู่ภายใต้การปกครองของรัสเซีย
และในช่วงนี้เอง คนฟินน์ก็ตระหนักว่าต้องฟื้นคืนอัตลักษณ์และภาษาของตัวเอง ก็เริ่มสร้างความเป็นชาติ ด้วยการฟืื้นฟูการเรียนการสอนภาษาฟินน์ในโรงเรียน เมื่อปี 1858 (ก่อนหน้านี้ฟินน์ไม่มีตัวเขียนภาษาของตัวเอง และใช้ภาษาสวีดิชท์เป็นภาษาทางการ) และพอถึงปี 1902 ภาษาฟินน์ได้รับการบรรจุเป็นภาษาประจำชาติร่วมกับภาษาสวีดิชท์
กระนั้น ฟินแลนด์ที่มีพลเมือง 2 ค่าย คือ ค่ายคนฟินน์ และคนสวีดิชท์ ที่ก็ยังขับเคี่ยวกับเอง และรวมตัวกันขับเคี่ยวและต่อรองอำนาจกับซาร์ของรัสเซียด้วยเช่นกัน และการต่อสู้เพื่อปลดแอกก็เกิดขึ้นเนื่องๆ ตลอดช่วงศตวรรษที่ 19 และ 20
จนเมื่อรัสเซียโค่นพระเจ้าซาร์ในปี 1917 ฟินแลนด์ก็ได้ประกาศอิสระภาพ และจัดให้มีการเลือกตั้ง โดยผู้หญิงมีสิทธิเลือกตั้งและลงแข่งขันทางการเมือง (ฟินแลนด์ถือเป็นประเทศที่ 3 ในโลกรองจากนิวซีแลนด์และออสเตรเลีย ที่เปิดให้ผู้หญิงมีสิทธิลงคะแนนเสียงเลือกตั้ง และเป็นประเทศแรกในโลก ที่ผู้หญิงได้รับเลือกตั้งเข้าสภา)
แต่พรรคอนุรักษ์นิยม (พรรคฝ่ายขวาหรือเรียกว่า “ฝ่ายขาว”) ชนะเลือกตั้ง ทำให้ค่ายคอมมิวนิสต์ฝ่ายซ้าย (ฝ่ายแดง) ไม่พอใจและตัดสินใจใช้กำลังโค่นฝ่ายขาว จนกลายเป็นสงครามกลางเมืองที่ยืดเยื้อหลายเดือน  ฝ่ายขวาขอความช่วยเหลือจากกองทัพเยอรมัน เพื่อให้เข้ามาช่วยฝ่ายขาวสู้กับฝ่ายแดง ผลทำให้ฝ่ายขวาหรือฝ่ายขาวได้รับชัยชนะ
สงครามครั้งนี้โหดร้ายที่สุดในประวัติศาสตร์ฟินแลนด์ มีผู้คนเสียชีวิตจำนวนมาก ทั้งนี้ ฝ่ายขาวและพันธมิตร (เยอรมัน) เสียชีวิตประมาณหกพันคน แต่ฝ่ายแดงและพันธมิตร (รัสเซีย) เสียชีวิตจากการสู้รบประมาณห้าพันคน แต่ถูกประหารชีวิตร่วมหมื่นคนและมีคนถึง 12,000 คน ตายในคุกและค่ายกักกันเพราะความอดยากหิวโหย
ทำให้สงครามกลางเมืองนี้ คนฟินแลนด์และพันธมิตร (เยอรมันและรัสเซีย) เสียชีวิตมากมายรวมกันร่วมสี่หมื่นคน (ดูhttps://en.wikipedia.org/wiki/Finnish_Civil_War)
สงครามกลางเมืองครั้งนี้ จึงเป็นบทเรียนการต่อสู้กันเองของคนในชาติที่เจ็บปวดที่สุดในประวัติศาสตร์ฟินแลนด์​และยังคงเป็นบาดแผลในหลายครอบครัวของประเทศนี้มาจนถึงปัจจุบัน
หลังจากเยอรมันช่วยปีกขวาชนะสงคราม ก็ส่งเจ้าชาย Charles Frederick ให้มาเป็นกษัตริย์ของฟินแลนด์ แต่เมื่อทดลองกันได้ 6 เดือน รัฐสภาฟินแลนด์ ก็ตัดสินใจว่าระบบกษัตริย์ท่าจะไม่เวิร์คก็ส่งพระองค์กลับเยอรมัน และประกาศเป็นประเทศสาธารณรัฐฟินแลนด์เมื่อปี 1919 (พ.ศ. 2462)
ที่มา

ดูเพิ่มเติม
วันกรรมสากลฟินแลนด์ปี 2554 Helsinki Worker’s May Day 2011